เชื่อว่าหลายๆ คนอาจเคยเห็นเรือสำราญเข้ามาล่องเรือในน่านน้ำของไทยกันมาบ้าง ทั้งเห็นแต่ในรูปไปจนถึงเห็นของจริงลำโตๆ กันเลย แต่เคยสงสัยการมาของสายการเดินเรือสำราญต่างๆ ในไทยบ้างรึป่าวคะ ว่ามีที่มาที่ไปยังไง วันนี้หญิงปุ๊กจะมาเล่าให้เห็นภาพเบาๆ กันนะคะ

ไทยมีการให้บริการเรือสำราญในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แรกๆ เรือสำราญที่เข้ามาก็จะมีขนาดเล็ก มาช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการล่องเรือรอบโลก (World Cruise) ซะมากกว่า ต่อมาสายการเดินเรือ Star Cruises ซึ่งเป็น 1 ใน 18 สายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็นำเรือสำราญท่องเที่ยวเข้ามาแวะพักที่ท่าเรือของไทย โดยจะเป็นแบบล่องในเส้นทางเดิมทุกสัปดาห์ ซึ่งช่วงก่อนปี พ.ศ. 2543 ก็จะไปที่ท่าเรือภูเก็ต กับสมุย ต่อมาก็ไปที่แหลมฉบัง ตอนนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ความนิยมในเส้นทางเดินเรือสำราญในแถบเอเชียก็ค่อยๆ มีมากขึ้น มีการให้บริการของเรือสำราญในแถบเอเชียตลอดทั้งปี แนวโน้มของทั้งเรือสำราญ และนักท่องเที่ยวก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยค่ะ

ท่าเรือหลักๆ ที่ให้บริการเรือสำราญในบ้านเราที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่น ภูเก็ต เกาะสมุย แหลมฉบัง และคลองเตย นั่นเอง โดยท่าเรือเหล่านี้จะให้บริการทั้งสายเรือในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวประมาณพฤศจิกายนถึงเมษายน สายเรือในภูมิภาค (Regional Cruise Line) ไปจนถึงสายเรือนานาชาติ (International Cruise Line) กันเลยทีเดียว แต่สำหรับช่วงนอกฤดูกาลการท่องเที่ยวสายการเดินเรือจะมีมาท่องเที่ยวบ้างแต่ก็ไม่มาก จะเป็นสายเรือในภูมิภาคซะเป็นส่วนใหญ่ที่เข้ามา และล่องในเส้นทางเดิมตลอดปี

เครดิตภาพจาก:marinerthai.net

ถ้าดูเฉพาะช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2564 จะมีเรือสำราญเข้ามาเทียบท่าในไทยทั้งแบบท่าเรือหลัก และแวะพักมากกว่า 228 ลำ ด้วยกัน (Travelonline, 2019: ออนไลน์)

หากพูดถึงบทบาทการเป็นท่าเรือหลัก (Homeport) ของไทยถือว่ายังมีน้อยมาก สาเหตุจากทั้งปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือที่ได้มาตรฐาน ระบบสาธารณูปโภค ความไม่มั่นคงทางการเมือง หรือแม้แต่ด้านทรัพยากรบุคคลที่ยังไม่พร้อม

ตัวอย่างสายการเดินเรือที่เคยมาใช้ท่าเรือของไทยเป็นท่าเรือหลักอย่างเช่น Princess Cruise สายเรือครอบครัว ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Carnival ซึ่งเป็น อุตสาหกรรมเรือสำราญยักษ์ใหญ่นั่นเอง บริษัท Carnival ได้ควบรวมกิจการเมื่อปี พ.ศ 2546 โดยการเข้าซื้อบริษัทแม่ของ Princess และจากการร่วมมือของทั้งสองค่ายเลยใช้ชื่อว่า P&O Cruises ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ เซาแธมป์ตัน สหราชอาณาจักรนั่นเอง Princess Cruise ได้เลือกท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลัก แต่เพราะความวุ่นวายทางการเมือง เลยเลือกย้ายท่าเรือหลักไปที่สิงคโปร์แทน

ตัวอย่างสายการเดินเรืออื่นๆ ที่มาใช้ท่าเรือของไทยเป็นท่าเรือหลักอย่างเช่น Costa Victoria ในเครือ Costa Cruises เป็นเรือขนาด 75,166 ตัน สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 2,394 คน เป็นเรือในกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการท่องเที่ยวสัญชาติอิตาลีที่ใหญ่ที่สุด และบริษัทเดินเรือสําราญอันดับหนึ่งในยุโรป หนึ่งในบริษัทสายเรือที่บุกเบิกเส้นทางแถบเอเชียแปซิฟิก โดย Costa Victoria จะเดินเรือเป็นเวลา 4 คืน ในการเดินทางทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่น่าตื่นเต้นต่างๆ เช่น สีหนุวิลในกัมพูชา ฟุก๊วกในเวียดนาม และเกาะสมุยในประเทศไทย โดยใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักนั่นเอง (Bernadette Chua, 2017: ออนไลน์; Edtguide, 2560: ออนไลน์)

และล่าสุดกับ Star Cruises เรือสำราญขนาด 50,764 ตัน ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 1,530 คน เป็นบริษัทในเครือของเกนติ้ง ฮ่องกง ที่เป็นผู้นำธุรกิจล่องเรือในน่านน้ำเอเชียแปซิฟิก นำเรือสำราญสุดหรู SuperStar Gemini เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2560 เพื่อเปิดท่าเรือหลักที่แหลมฉบังเชื่อมกัมพูชา เริ่มเดินทางออกจากท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังสีหนุวิลล์ เกาะกง เกาะสมุย (ฐานเศรษฐกิจ, 2560: ออนไลน์) แค่ฟังชื่อเรือไม่บอกก็รู้ว่าชีวิตบนเรือต้องไฮโซอย่างกับซุปตาร์แน่นอน

เครดิตภาพจาก: cruisemapper.com

ปัจจุบันบทบาทท่าเรือของไทยหลักๆ คือการเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of Call) มากกว่า เป็นลักษณะเรือสำราญที่นำนักท่องเที่ยวมาแล้วจากนั้นก็ขึ้นเรือเดินทางต่อไปยังท่าเรืออื่นนั่นเอง (Etatjournal, 2558: ออนไลน์) โดยสายเรือที่เข้ามาแวะพักในไทยนั้นมีมากมาย ยกตัวอย่างที่มีมาแวะพักที่ท่าเรือแหลมฉบัง เช่น World Cruise เรือขนาดใหญ่ที่ล่องรอบโลกอย่าง Queen Mary 2, Europa, Crystal Serenity, Diamond Princess, Supphire Princess, TUI, Holland America Line ms Westerdam ฯลฯ ที่มาแวะพักที่ท่าเรือภูเก็ตก็อย่างเช่น เรือสำราญในเครือ Royal Caribbian Cruises, Dream Cruise ฯลฯ ที่ท่าเรือกรุงเทพอย่าง Silver Shadow by Silversea, Azamara Quest Cruise, Oceania Nautica by Oceania Cruises ฯลฯ หรือที่ท่าเรือสมุย เช่น Costa Fortuna เป็นต้น

เครดิตภาพจาก: theluxurycruisereview.com

หากดูเฉพาะปี พ.ศ. 2564-2565 จะมีสายเรือที่ทำการเดินเรือออกจากท่าเรือกรุงเทพในไทยทั้งหมด 3 ลำด้วยกันได้แก่ Crystal Symphony ในสายการเดินเรือ Crystal Cruises เป็นเรือขนาดใหญ่ สามารถรองรับผู้โดยสารพร้อมๆกันได้มากถึง 848 คน และในช่วงปีเดียวกันจะมีสายเรือที่ทำการเดินเรือออกจากท่าเรือแหลมฉบังทั้งหมด 9 ลำ ได้แก่ Seven Seas Explorer สายเรือสุดหรูระดับโลกสามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 750 คน โดยสายการเดินเรือ Regent Seven Seas Cruises จำนวน 1 ลำ และอีก 8 ลำเป็นของ Viking Orion เรือขนาดไม่ใหญ่แต่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 930 คน โดยสายการเดินเรือ Viking Ocean Cruises นั่นเอง (Expedia, 2019: ออนไลน์)

เครดิตภาพจาก: maritime-connector.com

ตัวอย่างสายเรือที่เข้ามาดำเนินการผ่านตัวแทนในประเทศไทยอย่างเช่น Royal Caribbean Cruises Thailand และเคยได้รับรางวัล Best Cruises Lines Overall ถึง 15 ปีซ้อน โดยเรือสำราญของ Royal Caribbean มีทั้งสิ้น 24 ลำ ด้วยกัน ภูมิภาคที่ให้บริการ ได้แก่ อลาสก้า เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บาฮามาส เบอร์มิวด้า แคนาดา นิว อิงแลนด์ แคริบเบียน ยุโรป ฮาวาย เม็กซิโก คลองปานามา และ อเมริกาใต้ (Royal Caribean Cruises Thailand, 2561: ออนไลน์)

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเรือสำราญในทุกภูมิภาคเติบโตขึ้น รวมถึงเอเชียด้วย เป็นเรื่องน่ายินดีที่เอเชียเรามีศักยภาพในอุตสาหกรรมเรือสำราญ ถึงแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชียจะยังมีไม่มากถ้าเทียบกับภูมิภาคหลักอื่นๆ แต่ถ้าดูอัตราการเจริญเติบโตอ้างอิงจากข้อมูลของ PATA (2010) และ CLIA (2014) จะเห็นว่า มีการเพิ่มจากปี 2553 ที่ 2.4% เป็น 3.3% ในปี 2556 และ 4.4% ในปี 2557 ตามลำดับ เป็นการเติบโตอย่างรวดเร็ว และน่าสนใจ เหตุผลหลักที่อัตราการเติบโตของธุรกิจเรือสำราญในเอเชียนี้สูงขึ้น คือ ท่าเรือมีความหลากหลาย และครอบคลุม สินค้าในแต่ละท่าเรือมีลักษณะเฉพาะ ฤดูกาลล่องเรือที่สามารถล่องได้ตลอดปี ความคุ้มค่าของเงิน ความน่าสนใจของเส้นทาง ระยะทางระหว่างท่าเรือที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นสาเหตุให้หลายสายการเดินเรือนำเรือเข้ามาวิ่งในแถบเอเชียมากขึ้น (Admissionpremium, 2561: ออนไลน์)

 

เครดิตภาพจาก: CLIA

และถ้าเจาะเฉพาะในเอเชียไปที่ประเทศไทย เราลองมาดูตัวเลขทางสถิติที่น่าสนใจกันบ้างดีกว่า เริ่มกันที่ตัวเลขเรือสำราญที่เข้ามาท่าเรือไทยในปี 2562 มีทั้งหมด 550 ลำ แบ่งเป็นมาเพื่อแวะพัก (Transit) 427 ลำ มากที่สุด ตามด้วย ค้างคืน (Overnight) 80 ลำ และที่น้อยสุดคือการมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายของทริป (Turnaround) 43 ลำ นั่นเอง

ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวโน้มของจำนวนวันที่นักท่องเที่ยวเรือสำราญเดินทางมาเที่ยวในไทยช่วงปี 2562 ได้แก่ มาแวะพักมากที่สุดเป็นจำนวน 599,000 วัน ตามด้วยค้างคืน 149,000 วัน และที่ใช้จำนวนวันน้อยที่สุด คือมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายของทริปที่ 40,000 วัน

โดยท่าเรือที่มีเรือสำราญเข้ามาใช้บริการมากที่สุดในปี 2562 จะเป็นที่ท่าเรือป่าตอง ภูเก็ต โดยอยู่ที่ 188 ลำ แบ่งเป็น แวะพัก 151 ลำ ตามด้วยมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายของทริป 22 ลำ และท้ายสุดคือค้างคืนที่ 15 ลำ รองลงมาเป็นท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 147 ลำ แบ่งเป็น แวะพัก 61 ลำ ตามด้วยมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายของทริป 21 ลำ และท้ายสุดคือค้างคืนที่ 65 ลำ

ส่วนท่าเรือที่เหลืออย่างท่าเรือสมุย ท่าเรือพังงาเบย์ และท่าเรือเกาะห้อง มีจำนวนเรือสำราญเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวน 59, 29 และ 28 ลำ ตามลำดับ โดยเป็นเพียงการมาเพื่อแวะพักทั้งสิ้น

จะเห็นว่าท่าเรือหลักที่ดึงดูดเรือสำราญให้มาเที่ยวเด่นๆ จะมีท่าเรือป่าตอง และท่าเรือกรุงเทพฯ โดยท่าเรือป่าตองจะได้รับความนิยมในการมาแวะพักมากที่สุด ส่วนท่าเรือกรุงเทพฯ จะได้รับความนิยมในการมาพักค้างคืนมากที่สุด ส่วนตัวเลขการมาเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายของทริปจะเทไปที่ 2 ท่าเรือนี้อย่างละเท่าๆ กันอีกด้วย

เมื่อพิจารณาจำนวนเรือสำราญที่เข้ามาในไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2556 ไปจนถึงปี 2562 ถึงแม้จะมีลดบ้างเพิ่มบ้างในแต่ละปี แต่ถ้าดูภาพรวมของแนวโน้มจะอยู่ในลักษณะขาขึ้น แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในตลาดเรือสำราญ เพราะเป็นที่ต้องการในการเข้ามาใช้บริการล่องเรือสำราญมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

และท้ายสุดยืนยันศักยภาพของไทยในตลาดเรือสำราญด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยหรือ CAGR (Compound Annual Growth Rate) ในช่วง 5 ปีตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 โดยในเอเชียมีการเติบโตที่ 14% ถ้าดูเฉพาะเอเชียตะวันเฉียงใต้จะเติบโตอยู่ที่ 7% แต่ถ้าโฟกัสเฉพาะที่ไทยจะเห็นว่าเติบโตถึง 13% อัตราเติบโตใกล้เคียงกับในเอเชียเลยทีเดียว และคิดอัตราการเติบโต total Growth เท่ากันที่ 88% บอกเลยไม่ธรรมดาจริงๆ (CLIA, 2019: ออนไลน์)

การดึงดูดสายการเดินเรือให้เข้ามาในไทย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแข่งขันกับท่าเรืออื่นๆ ในภูมิภาคเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการร่วมมือกันระหว่างท่าเรือในภูมิภาคด้วย เพื่อช่วยสร้างความน่าสนใจของเส้นทางเดินเรือในภูมิภาคนั่นเอง การพัฒนาของประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาในภาพรวม ไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งที่จำเป็น และเร่งด่วนมากที่สุดคือ ตัวท่าเรือ ทั้งการสร้างท่าเรือใหม่ และปรับปรุงซึ่งต้องดูที่ความเหมาะสม และเขยิบบทบาทจากเป็นแค่ท่าเรือแวะพัก มาพัฒนาให้เป็นท่าเรือหลักของภูมิภาค และดึงดูดเรือสำราญต่างๆ เข้ามายังบรรดาท่าเรือของไทยต่อการล่องเรือหนึ่งครั้งให้ได้นั่นเอง หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เชื่อว่าอุตสาหกรรมเรือสำราญในไทยจะต้องพัฒนา และเติบโตดึงเม็ดเงินให้ไทยเราได้จำนวนมหาศาลแน่ๆ (Etatjournal, 2558: ออนไลน์) 



 

อ้างอิง:

ฐานเศรษฐกิจ. (2560) รัฐดัน‘ไทย’ฮับเรือสำราญ สตาร์ครูซส์บูมแหลมฉบัง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:

https://www.thansettakij.com/index.php/content/137172

ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง (2558) การท่องเที่ยวเรือสำราญกับความท้าทายของประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.etatjournal.com/web/menu-read-tat/menu-2015/menu-42015/682-42015-cruise

Edtguide (2560). Costa Victoria วิกตอเรียเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง ครั้งแรกในเมืองไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.edtguide.com/news/455824/costa-victoria

Nuttachit (2562) วิเคราะห์การแข่งขันธุรกิจเรือสำราญ ที่มาพร้อมกับขุมทรัพย์ใหม่ในเอเชีย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://marketeeronline.co/archives/104104

P' แพว AdmissionPremium (2561) แนวโน้ม​อุตสาหกรรมเรือสำราญทั่วโลก อนาคตสดใส!. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.admissionpremium.com/cruise/news/3506

Bernadette Chua. (2017) Costa Cruises will be homeporting the Costa Victoria in Laem Chabang port which is near the capital city of Bangkok. [Online]. retrieved from:

https://aseancruising.com/costa-cruises-homeport-ship-thailand/

CLIA (2019) 2019 Asia Cruise Deployment & Capacity Report [Online]. retrieved from:
https://cruising.org/-/media/research-updates/research/2019-asia-deployment-and-capacity---cruise-industry-report.pdf

Travelonline (2019). Cruises: Visiting Thailand in 2019. [Online]. retrieved from:
https://www.travelonline.com/cruises/search?region=thailand&page=8

(วันที่ค้นข้อมูล: 22 พฤศจิกายน 2562)