อาชีพบนเรือสำราญ หรือ Shipboard อาจจะเป็นอาชีพที่หลายๆ คนได้ยินมาบ้าง โดยเฉพาะคนที่เรียนด้านการท่องเที่ยว หรือสนใจในการท่องเที่ยวจะทราบดีว่า อาชีพการให้บริการ หรือ Service Industry นั้นจะมีทั้ง Pros and Cons ง่ายๆก็คือ มีทั้งข้อดีและข้อเสียนั่นเองค่ะ ไม่ว่าอาชีพบนเรือสำราญนั้นได้ผลตอบแทนดีแค่ไหน แต่ก็ต้องแลกด้วยอะไรหลายๆ อย่างเช่นกันจ้า

 

Shipboard Life หรือ ชีวิตการทำงานบนเรือสำราญ

พนักงานออนบอร์ดไม่ใช่แค่เพียงทำงานบนเรือเท่านั้น แต่มันคือการใช้ชีวิตบนเรือ เหมาะสำหรับคนที่รักการใช้ชีวิตแบบ Seagoing แบบสุดๆ นี่คือหนึ่งในคุณสมบัติสิ่งที่ฝ่ายการจ้างงานมองหา ด้วยรูปแบบของงาน และระยะเวลาการจ้างงานนั้นก็จะแตกต่างกับสายงานอื่น หลายคนอาจจะคิดว่าคงไม่แตกต่างกับการเป็นลูกเรือบนเครื่องบินเท่าไหร่ แน่นอนค่ะว่า "ไม่เหมือนกัน" ค่อนข้างเอนเอียงไปในด้านการบริการแบบโรงแรมเสียมากกว่าด้วย

แต่ในลักษณะของชั่วโมงการทำงาน และเวลามีความแตกต่างกับสายงานบริการด้านอื่นม๊ากกกก ไหนจะเรื่องสัญญาการจ้างงาน ที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทั้งหมดอยู่บนเรือ และต่างประเทศ ความจำเป็นที่ต้องการใช้ชีวิตแบบ On Shipboard ถ้าต้องพูดถึงเรื่องการติดต่อกับคนในครอบครัวด้วย time zone และเวลาเข้างานที่แตกต่างและยาวนานตลอด 9 เดือน หรือมากกว่านั้น แต่รองรับเรื่องรายได้อาจจะทำให้หลายคนสนใจในเม็ดเงินก้อนโต ที่จะสามารถเก็บไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้หลังหมดสัญญาจ้าง คิดให้ถี่ถ้วนน้าา Home Sick ร้องไห้แงๆ อยากกลับบ้านกลางทะเลไม่ได้นะจ๊ะ

 

อาชีพที่น่าสนใจบนเรือสำราญ

อาชีพที่น่าสนใจหลักๆ ที่คนไทยน่าจะลองเข้าไปหาประสบการณ์และโอกาสที่ท้าทายได้แก่

  1. พนักงานดูแลต้อนรับ (Receptionist)
  2. พนักงานเสิร์ฟบนเรือ (Waiter and Waitress) 
  3. แม่บ้าน (Housekeeper)
  4. พ่อครัวหรือแม่ครัว (Chef)
  5. บาร์เทนเดอร์ (Bartender)
  6. ช่างภาพ (Photographer)
  7. พนักงานนวดในสปา (Massage Therapists)
  8. ช่างเครื่อง (Engineer)

 

หน้าที่และความสามารถของแต่ละอาชีพ

ด้านสายบริการ (Service and Hospitality Departments)

 

1. พนักงานดูแลต้อนรับ (Receptionist)

พนักงานต้อนรับ คล้าย front desk ของโรงแรมเลยค่ะ แค่เปลี่ยนมาอยู่บนเรือ มีหน้าที่ดูแลผู้โดยสารตั้งแต่ขึ้นมาเช็คอินบนเรือ ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่พัก และการจองตลอดทั้งทริป รวมถึงการดูแลจัดการตามคำเรียกร้องที่ผู้โดยสารต้องการ เช่น กิจกรรมต่างๆ บนเรือที่จำเป็นต้องมีการจองเพื่อเข้าร่วม ห้องอาหารที่สามารถจองแยกจากเซ็ตที่จัดไว้ หรือแม้กระทั่งการร้องเรียนเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเดินทาง แน่นอนว่าการเป็นพนักงานต้อนรับบนเรือสำราญนั้นความรับผิดชอบ และการตัดสินใจของหน้าที่นี้จำเป็นต้องมีความมั่นใจของข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสื่อสาร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ต้องดีลกับผู้โดยสารที่มาจากหลากหลายประเทศ โดยคุณสมบัติในการรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเรือสำราญจำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงาน อย่างน้อย 1-2 ปีในแผนกต้อนรับของโรงแรม 3-5 ดาว ระดับการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในขั้น B2 หรือ Upper Intermediate ขึ้นไป สำหรับค่าตอบแทนนั้นจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์การทำงาน และการเลื่อนขั้นโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 1,500 - 3,000 ดอลลาร์ หรือ 35,000-90,000 บาทต่อเดือนโดยประมาณ

 

2. พนักงานเสิร์ฟบนเรือ (Waiter and Waitress) 

พนักงานเสิร์ฟ อาชีพที่หลายคนให้ความสนใจ คุณสมบัติในการรับสมัครจำเป็นต้องมีหัวใจในการรักบริการอย่างมากกกก ต้องรับผิดชอบทั้งการรับออเดอร์ แนะนำเมนูกับผู้โดยสาร ต้องมีความแม่นยำในการจดจำเมนู และการเสิร์ฟอาหารเป็นอย่างดี รวมถึงต้องมีความรับผิดชอบในการตัดสินใจกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานที่ดี การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีทีมเวิร์คที่ดีการฝ่ายครัว คุณสมบัติของการเป็นพนักงานเสิร์ฟบนเรือนั้น ควรจบหลักสูตรการบริการ และมีประสบการณ์การทำงานในห้องอาหาร หรือ ภัตตาคารระดับโรงแรม 3-5 ดาว ระดับการใช้ภาษาอังกฤษขั้น B1 หรือ Intermediate ขึ้นไป ค่าตอบแทนจะอยู่ระดับชั้นของห้องอาหาร และประสบการณ์การทำงานโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ 1,000 - 2,000 ดอลลาร์ หรือ 30,000 - 60,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งเสริมในส่วนของห้องอาหารอีกหนึ่งตำแหน่งนั่นก็คือ พนักงานทำความสะอาดห้องอาหาร (Dining room Attendant) บางสายเรือสำราญจะมีห้องอาหารที่เซอร์วิสแบบ 24 ชั่วโมงให้บริการ โดยพนักงานทำความสะอาดนั้นจำเป็น และต้องพร้อมให้บริการตลอดเวลา จะมีการเปลี่ยนกะเวลากันเช่น กะเช้า (09.00-21.00 น.) และกะกลางคืน (21.00-9.00 น.) มีหน้าที่เก็บกวาด และทำความสะอาดโซนอาหารที่เปิดให้บริการ ค่าตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ 850 ดอลลาร์ หรือ 36,000 บาทต่อเดือนค่ะ

 

3. แม่บ้าน (Housekeeper)

โดยอาชีพแม่บ้านบนเรือสำราญนั้นก็จะถูกแบ่งไปตามโซนต่างๆ แต่สำหรับแม่บ้านส่วนนี้ขอพูดถึง Accommodation Attendant เป็นคำเรียกที่ดูสวยหรูขึ้นมาหน่อยค่ะ ตำแหน่งนี้ก็จะมีหน้าที่ในการทำความสะอาดห้องพัก ล้างห้องน้ำ ปูเตียง และเซ็ตอัพห้องพักใหม่เพื่อรอต้อนรับผู้โดยสาร และทุกวันๆ ตลอดการเข้าพัก แม่บ้านก็ต้องทำความสะอาดห้องของผู้โดยสารทุกวันด้วยค่ะ เช่น การจัดเตียง เติม toilet amenity ดูแลเรื่อง mini bar ในห้องนอน ไปจนตลอดทริปของผู้โดยสาร เมื่อจบทริปก็ต้องทำการ turnover หรือ การทำความสะอาดห้องใหม่ หลังจากผู้โดยสารออกจากเรือไปแล้วเพื่อเตรียมตัวรับผู้โดยสารรอบต่อไป จำนวนห้องพักกว่าหลายร้อยห้องจะถูกจัด และแบ่งตารางให้แต่ละคนในจำนวนห้องที่เท่าๆ กัน แบ่งออกเป็นกะเช้า (09.00-21.00 น.) และกะกลางคืน (21.00-9.00 น.) คล้ายๆ กับคุณแม่บ้านที่ทำความสะอาดโซนอาหารเลยค่ะ จะมีการจัดกะทำงานเพื่อแบ่งแม่บ้านไปดูแลห้องน้ำโซนต่างๆ ของ public area ด้วยค่ะ

ในระดับแม่บ้านธรรมดาค่าตอบแทนจะอยู่ที่เดือนละ 550-700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 16,500 - 35,000 บาท ระดับผู้ช่วยหัวหน้าแผนกแม่บ้านอยู่ที่เดือนละ 1,000 - 1,400 ดอลลาร์ หรือ 30,000 - 42,000 บาท และถ้าได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนกแม่บ้านจะได้ค่าตอบแทนเดือนละ 3,000 - 4,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 90,000 - 120,000 บาท

การจะขึ้นเป็นหัวหน้าแม่บ้านได้นั้น จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำงานในโรงแรม 4-5 ดาว ในตำแหน่งของแผนกแม่บ้านมาก่อน 5-7 ปี หรือมากกว่านั้น โดยส่วนมากหัวหน้าแม่บ้านจะถูกจ้างมาจากเซอร์วิสของโรงแรม ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นบนเรือ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลห้องพัก รู้ไหมคะว่าหัวหน้าแม่บ้านบางคนเนี่ย เงินเดือนเยอะกว่า Duty Manager ของโรงแรมอีกนะค้า *0*

 

4. พ่อครัว (Cook or Chef)

หนึ่งอาชีพสุดฮิตที่คนไทยหลายๆ คนเลือกที่จะไปทำอาชีพนี้ในต่างแดน นอกจากนั้นแล้วยังเป็นอาชีพที่ยอดฮิตบนเรือสำราญด้วย แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นนะคะ การจะเป็นเชฟบนเรือสำราญต้องมีประสบการณ์การทำงานในครัวของโรงแรม 4-5 ดาวอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถสมัครเพื่อขึ้นไปเป็นเชฟบนเรือสำราญได้ ไม่ใช่เรื่องหมูๆ นะคะเนี่ย เพราะนอกจากประสบการณ์แล้ว ถือเป็นสายเรือใหญ่ๆด้วยแล้ว เชฟอาจจะต้องมีดีกรีในความชำนาญด้าน Food styling อีกด้วยจ้า  

ตำแหน่งของเชฟ จะถูกแบ่งออกตามความถนัด หรือเรียกว่า Specialize ตามประเภทของอาหาร เช่น อาหารคาว และ ของหวานเป็น 2 อย่างหลัก ฝั่งเบเกอรี่ก็ไม่ได้ยุ่งยากมาก แต่ฝั่งของคาวก็จะถูกแยกไปอีก General Cook, Pastry Chef, Sous Chef, Chef de Partie และ Executive Chef แต่ละตำแหน่งมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบกันต่างกันออกไป สำหรับสกิลภาษาที่ต้องการนั้นต้องอยู่ในระดับ B2 ขึ้นไป เพราะการ Communcation สำคัญมากเช่นกันในครัว เชฟนั้นถูกคัดเลือกมาทำงานบนเรือสำราญนั้นจะมาจากต่างที่กัน ภาษาจึงจำเป็น ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้นแต่ละตำแหน่งก็จะได้รับแตกต่างกันออกไป โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 - 3,000 หรือประมาณ 36,000 - 90,000 บาท

 

5. บาร์เทนเดอร์ (Bartender)

หนึ่งอาชีพเงินดี ค่าตอบแทนสูง ที่ต้องมี skill ขั้น specialize ในการสมัคร สำหรับใครที่สนใจการเป็นยอดฝีมือนักชงบนเรือสำราญนั้น ต้องเข้าคอร์สเรียนการชงเครื่องดื่ม และรู้จักเครื่องดื่มเป็นอย่างดีนะคะ เพราะในการเดินทางนั้นผู้โดยสารแต่ละคนจะมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน นอกจากการชงเครื่องดื่มตามออเดอร์แล้ว จำเป็นต้องมีการ offer สำหรับแขกด้วยค่ะ พิเศษไปกว่านั้นนักชงเครื่องดื่มยังต้องมีทักษะในการสร้างสรรค์ signature drink ของตัวเองอีกด้วย และต้องเป็น entertainer ที่ดีอีกด้วย สำหรับอาชีพนี้ค่าตอบแทนจะอยู่ที่ 2,400 ดอลลาร์ หรือ 72,000 บาท นี่ยังไม่รวมทริปจากผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการนะคะ แน่นอนว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ถ้ารักการบริการ และ enjoy การทำงานบนเรือสำราญ

 

6. ช่างภาพ (Photographer)

อาชีพทางเลือกสำหรับคนรักการถ่ายภาพ และการเดินทาง หลายๆ คนอาจจะไม่คุ้นชินกับอาชีพนี้เท่าไหร่นัก เพราะอาจจะคิดว่าเป็นแค่ Special Offer ให้กับผู้โดยสารเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ช่างภาพบนเรือคือ อาชีพหลัก นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนรักการถ่ายภาพให้ผู้อื่น การมีภาพสวยๆ ในยามทำกิจกรรมต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่ผู้โดยสารหลายๆ คนต้องการที่จะบันทึกช่วงเวลาเหล่านั้นไว้เป็นรูปภาพแห่งความทรงจำ หรือแม้กระทั่งตอนที่แวะเที่ยวตามประเทศต่างๆ การเดินทางคนเดียว เป็นคู่ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน แน่นอนว่า การถ่ายรูปรวมไม่จำเป็นต้องไหว้วานนักท่องเที่ยวคนอื่นอีกแล้ว

ทริปเรือสำราญในปัจจุบันจะมีช่างภาพค่อยตามเก็บรูปภาพความทรงจำเหล่านั้นให้คุณค่ะ สำหรับใครที่สนใจอาชีพนี้นอกจากรักการถ่ายรูป การเดินทางท่องเที่ยวแล้ว อย่าลืมว่าทริปนี้ไม่ได้สั้น สัญญาการว่าจ้างงานนั้นจะเหมือนกับอาชีพอื่นๆ แน่นอนว่า Shipboard life ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับทุกคนในการทำอาชีพบนเรือสำราญ การทำงานยังคงเป็นการเข้างานแบบกะเช่นเคย อาจจะ 4 ชั่วโมง On Service แล้วพัก 4 ชั่วโมง แต่ละรอบก็จะถูกจัดงานแตกต่างกัน แล้วก็ทำวนไปตาม Job ที่หัวหน้าจัดไว้ให้ค่ะ โดยรวมแล้วจะมีการถ่ายภาพแบบ Gangway, Dining room, Portrait (Casual night และ Elegant night) สำหรับการถ่าย Portrait นั้นส่วนมากจะเป็นช่างภาพมืออาชีพจะได้งานเวลากะนี้ไป เพราะจำเป็นต้องใช้ฝีมือ และชั่วโมงประสบการณ์มากกว่า แถมยังเป็นช่วงที่ได้เงินจากแขกดีมากๆ อีกด้วย ><

นอกจากการถ่ายรูปแล้ว ช่างภาพจำเป็นต้องทำการขายกิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวด้วย เพื่อส่งเสริมอาชีพหลักอย่างการถ่ายภาพ แน่นอนว่าส่วนนี้ต้องอาศัยความเฟรนด์ลี่เข้าช่วย ต้องรับกับความกดดันในการปฏิเสธของลูกค้า แต่ถ้าขายได้แน่นอนว่าโบนัสดีเห็นๆ เงินหนาๆ เลยค่ะ ค่าตอบแทนช่างภาพอยู่ที่เดือนละประมาณ 1,400 ดอลลาร์ หรือประมาณ 40,000 บาท ยังไม่รวมโบนัสอีก 100 - 500 ดอลลาร์ต่องาน หรือต่อครูส งานถ่ายภาพที่ได้เงินดีที่สุดคือ การถ่ายภาพงานแต่งบนเรือสำราญค่ะ จะได้เปอร์เซ็นต์เยอะเป็นพิเศษเลยจ้าา

 

7. พนักงานนวดในสปา (Massage Therapists)

เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจสำหรับคนที่มีประสบการณ์ หรือ มีความรู้ด้านการนวด และต้องการมองหาสถานที่ทำงานใหม่ๆ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับการเป็นพนักงานนวดบนเรือสำราญนั้นจำเป็นต้องมีความสามารถในการนวดไทย นวดสวีดิช นวดอโรม่า นวดหินร้อนได้ สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี มีประสบการณ์ 2 ปีขึ้นไป ส่วนมากจะรับเพศหญิง อายุ 25- 40 ปี ไม่มากหรือเกินกว่านี้ค่ะ นอกจากรายได้ที่ดีแล้ว การเป็นพนักงานนวดนั้น ยังได้ทริปดีอีกด้วยจ้าา ค่าตอบแทนสำหรับพนักงานนวดจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 - 15,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30,000 - 45,000 บาท ยังไม่รวมคอมมิสชั่นและทริปที่อาจจะรวมๆ แล้วตกเป็นรายได้ต่อเดือนเกือบ 2,000 - 3,150 ดอลลาร์ หรือประมาณ 60,000 - 100,000 บาทค่ะ

 

ด้านสายดูแลและซ่อมบำรุง (Deck and Engineering Departments)

 

8. ช่างเครื่อง (Engineer)

อาชีพที่สำคัญสำหรับการเดินทางของผู้โดยสาร ทำงานร่วมกับฝ่ายบังคับการ Desk จะรับหน้าที่ในส่วนปากเรือ หรือ ห้องควบคุมด้านหน้าของเรือ ส่วน Engineer จะทำงานอยู่ในห้องเครื่อง ประจำตำแหน่งในส่วนท้องเรือ และท้ายเรือ แยกง่ายๆ คือ Engineer เท่ากับฝ่ายช่าง และจะถูกแยกออกไปตามตำแหน่งต่างๆที่ได้รับ หลักๆ ก็มี 8 ตำแหน่ง

  • ผู้ช่วยช่าง (Assistant Engineer)
  • หัวหน้าช่าง (Chief Engineer)
  • หัวหน้าช่างไฟ (Chief Electrician)
  • หัวหน้าช่างวิทยุ (Chief Radio Officer)
  • ผู้ช่วยคนที่หนึ่ง (First Assistant Engineer)
  • ช่างบำรุง (Motorman)
  • ช่างน้ำมัน (Oiler)
  • ช่างประปา (Plumber)

สำหรับการเป็นช่างเครื่องบนเรือสำราญ ค่าตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และ Position ของเรา ประสบการณ์การทำงาน การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ต้องมากกว่า 2-5 ปี รายได้โดยเฉลี่ยของทุกตำแหน่งของอาชีพช่างเครื่องนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 - 2,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 45,000 - 60,000 บาท

 

สรุปข้อชี้แนะ

  1. สำหรับทุกอาชีพบนเรือสำราญนั้น เราต้องทำงาน 7 วันไม่มีวันหยุด
  2. ทำติดต่อกันตามสัญญาว่าจ้างทั้งหมด 6 - 9 เดือนเป็นอย่างต่ำ (สัญญาต่อปี)
  3. ทำงานเป็นกะ เดินทางต่างประเทศ
  4. ต้องมีสกิลภาษาอังกฤษที่ดี เพื่อการสื่อสาร
  5. ประสบการณ์การทำงานในด้านต่างๆ อย่างต่ำ 2 ปีขึ้นไป 

 

ทำงานบนเรือสำราญนั้นมีทั้งข้อดี และข้อจำกัดต่างๆ นาน ดังนั้นก่อนเข้าสู่อาชีพนี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งเรื่องเวลา ภาระส่วนตัว และความรู้ความสามารถของตัวเอง สิ่งที่จำเป็นคือ ภาษา

- ต้องสอบภาษาอังกฤษให้ได้ระดับ B2 ขึ้นไปเพื่อเป็นโอกาสให้ตัวเองในการเลือกตำแหน่งงาน

- ต้องมีประสบการณ์ คุณสมบัติตามหน้าที่ของตำแหน่งที่ต้องการสมัคร

- ต้องสมัครอบรมหลักสูตร STCW/95 เพื่อการทำงานบนเรือสำราญโดยตรง

- ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับเอกสารต่างๆ รวมถึงการทำ Passport ขอ Visa และตรวจร่างกาย 

ตามหัวข้อที่บอกไปข้างบนนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายรวมแล้วประมาณ 40,000 - 60,000 บาท คนที่สนใจทำงานสายนี้จริงๆ ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ และคำนึงถึงการตัดสินใจของตัวเองในการเลือกเดินทางในอาชีพบนเรือสำราญนี้ด้วย

นอกจากโอกาสการทำงานที่ขึ้นไปทำบนเรือแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรือสำราญอีก เช่น เรื่องอาหาร สินค้า การขนส่ง บริษัททัวร์ ที่ภาคเอกชน หรือคนในชุมชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ตัวอย่างเช่น ด้านอาหาร วัตถุดิบ ที่ต้องใช้บนเรือสำราญ ไม่ว่าจะเป็นข้าว เครื่องปรุง และเครื่องดื่ม สามารถส่งขึ้นไปได้ เพราะด้วยประมาณผู้โดยสารนับพัน ทำให้ปริมาณการบริโภคต่อวันสูงมาก ธุรกิจเหล่านี้ก็คงเป็นทางเลือกให้สำหรับคนที่มองหาช่องทางการทำธุรกิจได้เช่นกันค่ะ

 

แหล่งข้อมูล :

https://www.u-review.in.th/cruise/news/3945

https://www.cruisejobfinder.com/JobDescriptions/