ภาพรวมอุตสาหกรรมเรือสำราญในเอเชีย

 
ข้อมูลอุตสาหกรรมเรือสำราญในเอเชีย จากสมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (CLIA) ได้พบว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ใหม่ของนักท่องเที่ยวในแถบเอเชีย ต้องการแสวงหาความท้าทาย และประสบการณ์แปลกใหม่ จากการเดินทางท่องเที่ยวครั้งเดียวในหลายประเทศ 
 
 
 

นักท่องเที่ยวในเอเชียเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ จำนวน 4.24 ล้านคน

 
ในปี 2018 นักท่องเที่ยวเอเชียคิดเป็นสัดส่วน 14.8% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกทั้งหมด 28.5 ล้านคน และจำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชียมีจำนวน 4.24 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้น 4.6% จากปีก่อน นอกจากนี้ยังถือเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับ 3 ของอุตสาหกรรมเรือสำราญโลก รองจากอเมริกาเหนือ และยุโรป
 
โดย 5 อันดับแรก ของปริมาณนักท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชีย ได้แก่ จีน จำนวน 2,357,000 คน ไต้หวัน จำนวน 391,000 คน สิงคโปร์ จำนวน 373,000 คน  ญี่ปุ่น จำนวน 266,000 คน ฮ่องกง จำนวน 250,000 คน และเกือบทุกประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และไทยอยู่ที่จำนวน  30,000 คน
 

 
 
 

อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ของอุตสาหกรรมเรือสำราญ

 
จากปี 2013 ถึง 2018 ปริมาณนักท่องเที่ยวมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สายเรือสำราญได้ปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการให้ปริการเรือสำราญ โดยการเพิ่มจำนวนเรือ จำนวนรอบเรือสำราญ จำนวนวันที่ล่องเรือ และความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ในด้านต่างๆ ได้แก่ ใน 5 ปี จำนวนเรือสำราญจาก 43 ลำ เพิ่มขึ้นเป็น 78 ลำ อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 12.6%  จำนวนรอบเรือสำราญจาก 861 รอบ เพิ่มขึ้นเป็น 2,041 รอบ อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 19% จำนวนวันที่ล่องเรือจาก 4,307 วัน เพิ่มขึ้นเป็น 10,467 วัน อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 19% และความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 1.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 4.26 ล้านคน อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 23%
 

 
 
 

ประเภทขนาดเรือสำราญในย่านเอเชีย 

 
เรือสำราญที่ให้บริการในเอเชีย แบ่งออกได้ 5 ประเภท จากจำนวนทั้งหมด 78 ลำ ได้แก่
 
เรือสำราญขนาดใหญ่มาก (Mega) 6 ลำ จำนวนผู้โดยสารมากกว่า 3,500 คน
 
เรือสำราญขนาดใหญ่ (Large) 19 ลำ จำนวนผู้โดยสาร 2,000 - 3,500 คน 
 
เรือสำราญขนาดกลาง (Mid-Size) 27 ลำ จำนวนผู้โดยสาร 750 - 2,000 คน
 
เรือสำราญขนาดเล็ก (Small) 21 ลำ จำนวนผู้โดยสารน้อยกว่า 750 คน
 
และเรือสำราญผจญภัย 5 ลำ (Expedition) จำนวนผู้โดยสาร 100 - 300 คน
 

 
 
 

ท่าเรือแวะพักปลายทาง ปี 2018 

 
ท่าเรือแวะพักปลายทางภูมิภาคเอเชียจำนวน 10 ประเทศ ทั้งหมด 6,836 ครั้ง อันดับแรกประเทศญี่ปุ่น 2,601 ครั้ง รองลงมาคือจีน 1,012 ครั้ง ไทย 581 ครั้ง เวียดนาม 493 ครั้ง มาเลเซีย 458 ครั้ง สิงคโปร์ 374 ครั้ง อินโดนีเซีย 354 ครั้ง ไต้หวัน 346 ครั้ง ฮ่องกง 249 ครั้ง ฟิลิปปินส์ 248 ครั้ง และอินเดีย 120 ครั้ง
 
สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีความโดดเด่น ด้านท่าเรือแวะพักมากที่สุดในเอเชีย และมากกว่าจีนถึงหนึ่งเท่าเลยทีเดียว เพราะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะล้อมรอบด้วยทะเลทั้งสี่ด้าน มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ล่องน้ำลึกที่เพียงพอสะดวกต่อการเข้าออกเรือสำราญขนาดใหญ่ และบริเวณท่าเรือบางแห่งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น สวนสนุก พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และตลาดปลา เป็นต้น
 

 
 
 

เทรนด์นักท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชีย

 
“เที่ยวเรือสำราญ” กำลังฮอตฮิตมาแรงสำหรับนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ที่เป็นทริปในฝันของใครหลายๆ คน ได้มีโอกาสท่องเที่ยวต่างประเทศแบบเอ็กซ์คลูซีฟ บนเรือสำราญสุดหรูหราท่ามกลางทะเลสีคราม และแวะเที่ยวตามสถานที่ไฮไลท์บนชายฝั่งของประเทศต่างๆ ที่เปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวหลุดออกจากกรอบเดิมๆ เลยทีเดียว วันนี้ทูมอร์โรเอ็กซ์โพเลอร์ ได้รวบรวมข้อมูลเทรนด์นักท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชียจากสมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (CLIA) และสมาคมเรือสำราญของเอเชีย (Asia Cruise Cooperation: ACC)
 

 
เทรนด์ท่องเที่ยวเรือสำราญในเอเชียที่กำลังมาแรง โดยมีอัตราเติบโตมากที่สุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 33% ต่อปี
 
นับตั้งแต่ปี 2012 จำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญทั้งหมด 775,000 คน จนกระทั่งปี 2018 จำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญสูงถึง 4.26 ล้านคน ปริมาณนักท่องเที่ยวมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง
 
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวในเอเชีย 9 คน ใน 10 คน จะนิยมล่องเรือในเอเชียมากกว่าเส้นทางเดินเรือในแถบเมดิเตอร์เรเนียน แคริบเบียน อเมริกาใต้ บอลติก ยุโรปเหนือ และอลาสก้า สาเหตุที่นิยมล่องเรือสำราญในแถบเอเชีย เนื่องจากใช้ระยะเวลาไม่มาก โดยเฉลี่ย 4.9 คืน หรือ 5 คืน สูงถึง 89% ส่วนจำนวนวันที่นิยมใช้ท่องเที่ยวเรือสำราญแบ่งได้ 3 อันดับ คือ อับดับแรก 4 - 6 คืน รองลงมา 2 - 3 คืน และสุดท้ายมากกว่า 20 คืน
 
สำหรับนักท่องเที่ยวเรือสำราญของเอเชียในปี 2018 อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 45.6 ปี ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวเรือสำราญทั่วโลกที่อายุ 47 ปี โดยนักท่องเที่ยวจากจีนอายุเฉลี่ย 45 ปี อินโดนีเซียอายุเฉลี่ย 39 ปี อินเดียอายุเฉลี่ย 37 ปี และญี่ปุ่นอายุมากกว่า 57 ปี จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวเรือสำราญส่วนใหญ่กำลังอยู่ในวัยทำงาน เริ่มมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงสนใจท่องเที่ยวแบบครบวงจรสะดวกสบาย รวมทั้งในหลายประเทศได้พัฒนาท่าเรือสำราญให้มีความทันสมัย เพื่อรองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น
 
 
 
แหล่งที่มาของข้อมูล
 
https://cruising.org/-/media/research-updates/research/clia-2018-asia-source-market-overview.jpg
 
https://cliaasia.org/wp-content/uploads/2018/10/State-of-Asia-Cruise-Industry-2018.pdf
 
https://cruising.org/travel-agent-center/professional-development-training/knowledge-center/choosing-the-right-ship-size-and-type