ประเทศไทยเป็นประเทศยอดนิยมอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก มีสถานที่ท่องเที่ยวงดงามมากมาย มีผู้คนที่เป็นมิตรน่ารัก มีอาหารที่อร่อย มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีค่าครองชีพที่ไม่แพง และข้อดีอื่นๆ อีกมากมาย เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก

ซึ่งหญิงปุ๊กมีโอกาสได้ล่องเรือสำราญนับสิบครั้ง ได้เห็นท่าเรือสำราญมาหลายสิบแห่งรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นในโซนเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ทำให้เห็นว่าท่าเรือสำราญ มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศนั้นๆ เช่นกัน เราจำเป็นต้องมีท่าเรือสำราญที่ได้มาตรฐาน หลายๆ แห่ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทย เหมือนกับที่เรามีสนามบินนานาชาติ ในหลายๆ จังหวัด สนามบินหรือท่าเรือสำราญ ต่างก็เป็นประตูเข้าออกของนักท่องเที่ยว ถ้าไทยเรามีความพร้อม นอกจากเค้าจะบินมาแล้ว ก็สามารถล่องเรือต่อได้ หรือต่อให้ไม่ได้บินเข้ามา ก็ล่องเรือจากประเทศอื่นเข้ามาเที่ยวได้ เป็นการเพิ่มปริมาณ และระยะเวลาในการให้บริการนักท่องเที่ยว นำมาซึ่งการจ้างงาน และรายได้อีกนับไม่ถ้วน

ด้วยความที่ประเทศไทยมีพื้นที่ติดกับทะเล ทำให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวแบบเรือสำราญ มีจุดแวะพักที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นักท่องเที่ยวเดินทางมาในลักษณะท่าเรือแวะพัก (Port of Call) ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเรือสำราญที่เข้ามาในลักษณะแบบเป็นจุดเริ่มต้น และจุดสุดท้ายของทริประยะสั้น (Turn-Around Port) อีกด้วย ถึงแม้ว่า บทบาทการเป็นท่าเรือหลัก (Homeport) ของไทยยังมีน้อย เพราะยังติดปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน การตลาดประชาสัมพันธ์ การตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร และด้านกฎหมาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีศักยภาพมาก ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก (“ล่องเรือสำราญ” ทางเลือกนักเดินทาง อนาคตการท่องเที่ยวไทย”, 2560: ออนไลน์; “บริบทของไทยกับการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวเรือสำราญ”, 2561: ออนไลน์)

 

และถ้าพูดถึงท่าเรือสำราญหลักของประเทศไทยเองมีอยู่ 4 ท่าด้วยกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

1) ท่าเรือแหลมฉบัง (Laem Chabang Port)

ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ห่างจากพัทยาไปทางเหนือ 25 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 110 กิโลเมตร จัดเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกันเลยทีเดียว

ท่าเรือแหลมฉบังมีการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของ และบริหารงานโดยรวม สำหรับงานบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือดำเนินการโดยให้ผู้ประกอบการเอกชนเช่าประกอบการ โดยมีทั้งสายเดินเรือ ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการท่าเรือนั่นเอง มีปริมาณเรือเทียบท่ากว่า 8,118 ลำ ด้วยกัน และไม่ใช่แค่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาที่ประเทศเท่านั้น ยังนำนักท่องเที่ยวเดินทางโดยเรือสำราญไปต่างประเทศอีกด้วยนะ ยกตัวอย่างเส้นทาง เช่น จากท่าเรือแหลมฉบังไปกัมพูชา แวะเกาะฟู้โกว๊กในเวียดนาม เข้าเกาะสมุย แล้วมาจบที่ท่าเรือแหลมฉบัง หรือจะเป็นท่าเรือแหลมฉบังแวะเกาะสมุย ไปจบที่สิงคโปร์ หรือแม้แต่เริ่มที่ท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือฟูมาย เมืองนครโฮจิมินห์ ไปดานังในเวียดนาม ต่อไปที่เซินเจิ้นประเทศจีน แล้วไปจบที่ฮ่องกง เป็นต้น

ฟังแค่เส้นทางก็น่าสนใจไปใช้บริการเรือสำราญแล้วใช่ไหมค่ะ โดยท่าเทียบเรือสำราญในท่าเรือแหลมฉบังนั้นจะอยู่ที่ ท่าเทียบเรือ A1 ดำเนินการโดยบริษัท เอ็น วาย เค ออโต้ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (NYK Auto logistics (Thailand)) ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งท่าเทียบเรือโดยสาร และท่าเทียบเรือรถยนต์ด้วยนั่นเอง ความยาวหน้าท่าอยู่ที่ 365 เมตร ลึก 14 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง และรับเรือโดยสารขนาด 70,000 เดทเวทตัน (DWT) (“ท่าเรือแหลมฉบัง”, 2562: ออนไลน์; “ท่าเทียบเรือ A1”, 2562: ออนไลน์ )

สำหรับอาณาเขตติดต่อของท่าเทียบเรือ A1 คือ ทางทิศเหนือไปจนถึงถนนทางเข้าท่าเทียบเรือ A2 และA3 ทางทิศตะวันตก ไปจนถึงท่าเทียบเรือ A2 ทางทิศใต้ไปจนถึงแอ่งจอดเรือ ทางทิศตะวันออกไปจนถึงถนนภายในท่าเรือแหลมฉบังนั่นเอง โดยมีพื้นที่ท่าเทียบเรือ A1 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่พื้นที่บนท่า เป็นพื้นที่ติดกับน้ำ กว้างราวๆ 30 เมตร มียางกันกระแทก (Fender) 31 ตัว มีพุก (Bollard) 16 ตัว และพื้นที่ส่วนที่สองคือ พื้นที่หลังท่า เป็นส่วนของอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมท่าเทียบเรือโดยสาร อย่าง อาคารที่พักผู้โดยสารที่รองรับได้ 1,500 คนต่อเที่ยวเรือ ลานจอดรถโดยสาร และรถยนต์ ระบบบำบัดน้ำเสีย จุดรวบรวมขยะ และอาคารป้อมยาม (NYK GROUP, 2556: 1-3 ออนไลน์)

เครดิตภาพ:lrt-th.com

บริเวณท่าเทียบเรือสำราญที่แหลมฉบังมีตู้ขายอาหาร และเครื่องดื่มไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว มีจุดให้บริการข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ร้านของฝาก บริเวณเขตปลอดภาษี รวมไปถึงบริการรถบัส และแท็กซี่อีกด้วย แนะนำว่าการเดินทางโดยรถบัส จะประหยัดเงินในกระเป๋ามากกว่าแท็กซี่เยอะเลย

เครดิตภาพ: th.foursquare.com

เรือสำราญที่มาจอดที่แหลมฉบังมีตั้งแต่ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่ และเคยมีโอกาสได้เป็น Homeport ให้กับเรือสำราญ Costa Cruises (Costa Asia) อย่างเรือสำราญ Costa Victoria หรือจาก Star Cruises (GHK brand) อย่าง SuperStar Gemini ด้วย หรือจะเป็นท่าเรือแวะพัก World Cruise เรือขนาดใหญ่ที่ล่องรอบโลกอย่าง Queen Mary 2, Europa, Crystal serenity นอกจากนี้ยังมี Diamond Princess, Supphire Princess, TUI, Holland America Line ms Westerdam เป็นต้นค่ะ

เครดิตภาพ: nykautologistics.com

 

จากท่าเรือนี้สามารถไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ ของประเทศไทยได้หลายที่เลยนะคะ เช่น เมืองตากอากาศทางชายฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยอย่างพัทยา จะใช้เวลาราวๆ 40 นาที เหมาะสำหรับการเที่ยวแบบวันเดย์ทริป เจาะลึกประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าหลงใหล หรือจะเลือกไปยังที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติใจกลางกรุงเทพฯ อย่างพระบรมมหาราชวัง ขับรถใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เที่ยววันเดย์ทริปรอบๆ กรุงเทพฯ ชมสัญลักษณ์ของประเทศไทย ล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถ้าชอบบรรยากาศเมืองโบราณขับรถเพียง 2 ชั่วโมง 40 นาที ก็จะได้ชื่นชมเมืองหลวงเก่าสุดล้ำค่าอย่างอยุธยาของเรานั่นเองค่ะ

การเดินทางมาท่าเรือแหลมฉบัง
ให้ขับรถจากสาธรไปทางด่วน ไปทางบางนาพอเลยอาจณรงค์ ให้ชิดซ้ายตามป้ายบูรพาวิถี ลงบูรพาวิถี ชิดซ้ายเข้าบายพาสอ้อมตัวเมืองชลบุรี ชิดขวาขึ้นสะพานไปออกทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายตรงไปแหลมฉบังได้เลย จากนั้นก็ดูตามป้ายเพื่อไปท่าเรือแหลมฉบัง

โดยจากกรุงเทพมายังท่าเรือแหลมฉบังระยะทางจะประมาณ 130 กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ถ้ามาจากสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีระยะทางราวๆ 105 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1ชั่วโมงนิดๆ หากมาจากสนามบินอู่ตะเภาจะมีระยะทางประมาณ 63 กิโลเมตร ใช้เวลาราวๆ 53 นาทีเท่านั้นเอง สามารถตรวจสอบเส้นทางได้ที่แผนที่แหลมฉบัง http://bigmapthailand.com/maps/3491_แผนที่_แหลมฉบัง.html

แผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง
ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้วคือ โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 (ปี 2011-2020) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเน้นย้ำถึงจุดยืนการเป็นเกตเวย์หลักในภูมิภาค การเป็นศูนย์กลางทางการค้า และส่งเสริมโอกาสในการลงทุนในของไทย มีการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดระยะเวลาในการรอเรือและเพิ่มความรวดเร็วของการปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือท่องเที่ยวแห่งที่ 2 ในการก่อสร้างเฟส 3 นอกเหนือจากท่าเทียบเรือ A1 อีกด้วย โดยระหว่างรอข้อสรุปนี้จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาคารผู้โดยสารประจำท่าเรือเดิม ที่มีพื้นที่ 8,655 ตร.ม.ให้ทันสมัยคู่ขนานกัน (“ท่าเรือแหลมฉบัง”, 2560: ออนไลน์; “ท่องเที่ยวผนึกการท่าเรือดัน ‘แหลมฉบัง คลองเตย’บุกครุยส์โลก” 2560: ออนไลน์)



2) ท่าเรือภูเก็ต (Phuket Port)

ท่าเรือภูเก็ตอยู่ในทะเลอันดามัน (Andaman Sea) เป็นท่าเรือสินค้าทั่วไปที่ใหญ่ที่สุดในชายฝั่งอันดามัน แต่เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจมาพึ่งพิงการท่องเที่ยวแทนการส่งออกแร่ดีบุก และด้วยความที่สามารถรองรับเรือขนาด 20,000 ตัน กินน้ำลึก 9 เมตรได้ เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่จึงเข้าเทียบท่าเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว โดยเรือสำราญจะจอดที่ทางใต้สุดของป่าตอง (Patong) หรือที่ท่าเรือน้ำลึก อ่าวมะขาม (Ao Makham Deep Seaport) ซึ่งจัดเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญของภูเก็ต ตั้งอยู่ที่ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ขนาดท่าเทียบเรือ ประมาณ 360 เมตร เทียบได้ไม่เกิน 180 เมตร เทียบได้ 2 ลำ ใช้โครงสร้างท่าเทียบเรือแบบแท่งคอนกรีต สิ่งอำนวยความสะดวกเช่น โรงพักสินค้าขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 90 เมตร รวมเนื้อที่ 3,600 ตารางเมตร และสำหรับโรงพักสินค้าเองก็มีสำนักงานท่าเรือรวมอยู่ด้วย 240 ตารางเมตรนั่นเอง อาคารซ่อมบำรุงเครื่องจักรขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และวิทยุสื่อสาร เป็นต้น (สุมาลี สุขดานนท์, 2561: ออนไลน์ ; “ท่าเรือน้ำลึก”, 2562: ออนไลน์; กรมเจ้าท่า, 2560: ออนไลน์ )

เครดิตภาพ: thansettakij.com, prachachat.net, mgronline.com

 

ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต อ่าวมะขาม ยังไม่สามารถให้บริการเรือสำราญขนาดใหญ่ได้นะคะ เพราะเรือส่วนใหญ่จะกินน้ำลึกมากกว่า 9 เมตรขึ้นไปนั่นเอง แต่ที่นี่ยังมีความลึกไม่เพียงพอ ท่าเรือยังจำเป็นต้องพัฒนาจุดร่องน้ำให้ลึก ขึ้นขยายจุดกลับเรือให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งทำแนวกันคลื่นให้สำเร็จจึงจะสามารถเทียบท่าได้การแก้ปัญหาในปัจจุบัน จึงยังต้องให้เรือขนาดใหญ่จอดกลางทะเลลึก ขนถ่ายผู้โดยสารลงเรือเล็ก และผ่านโป๊ะกลางทะเลที่หาดป่าตอง การขนถ่ายผู้โดยสารจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อเที่ยว ซึ่งเสี่ยงต่อคลื่นลมแรงนั่นเอง ดังนั้นการมาใช้บริการเทียบท่าของนักท่องเที่ยวจึงยังไม่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเพียงพอ นอกจากนี้ทำให้ไม่สามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มลัคชัวรี่ได้มากเท่าที่ควรอีกด้วย (“ภูเก็ต ดีพซี พอร์ท แจงความคืบหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต คาดเสร็จ พ.ค.63”, 2019: ออนไลน์ )  บริษัทเรือสำราญที่มีมาใช้บริการเทียบท่าที่นี่ เช่น เรือสำราญในเครือ Royal Caribbian Cruises, Princess Cruises, Dream Cruise เป็นต้น

เครดิตภาพ: royalcaribbean.com, cleancruising.com.au, arktravels.com

 

แม้การเดินทางมายังไม่สะดวกเท่าที่ควร แต่ด้วยเสน่ห์ของภูเก็ตนักท่องเที่ยวก็ยังคงนิยมที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว พักผ่อนอยู่ตลอด โดยจากท่าเรือภูเก็ตสามารถไปยังแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติต่างๆ อย่างถ้าขับรถแค่ 35 นาที ก็จะถึงชายหาดที่เงียบสงบอย่างหาดกะรน (Karon Beach) หรือจะเที่ยวชมเกาะ และหาดทรายแสนสวยในภูเก็ตก็ได้ด้วย หากขับรถประมาณ 40 นาที ก็สามารถไปยังจุดชมวิวแหลมพรหมเทพ เพื่อไปชมพระอาทิตย์ตกก่อนใคร ที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย หรือใช้เวลาขับรถพอๆ กันเพื่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตอย่าง หาดป่าตอง (Patong Beach) ก็ได้ แต่ถ้าใครอยากไปชมโชว์ตระการตาไม่เหมือนใครก็ต้องที่ภูเก็ตแฟนตาซี ซึ่งขับรถไปราวๆ 50 นาทีเท่านั้นเองค่ะ

การเดินทางมาท่าเรือภูเก็ต
เราสามารถขับรถมาจากภูเก็ตได้โดยทางหลวงหมายเลข 4023 ถนนศักดิเดช (ภูเก็ต-อ่าวมะขาม) ท่าเรือจะห่างจากตัวเมืองภูเก็ตอยู่ที่ประมาณ 8 กิโลเมตรเท่านั้น หากมาจากสนามบินขับรถระยะทางประมาณ 43 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราวๆ 56 นาทีก็ถึงท่าเรือแล้ว

แผนพัฒนาท่าเรือภูเก็ต
เนื่องจากท่าเรือภูเก็ตมีแนวโน้มการใช้บริการจากเรือท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงขึ้นทุกปี จึงมีแนวคิดพัฒนาท่าเรือให้รองรับเรือโดยสารท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันบริษัท ภูเก็ต ดีพ ซีพอร์ต พัฒนาโครงการท่าเรือภูเก็ต (Phuket Cruise Home Port) รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์ ในการบริหารท่าเรือเป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2561 เป็นต้นไป บริษัทได้มีการกำหนดแผนในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตออกเป็น 4 เฟสดังนี้

เฟสที่ 1: ก่อสร้างอาคารสำหรับรองรับผู้โดยสารในพื้นที่ 900 ตร.ม. พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์รอบท่าเรือภูเก็ต ขยายหน้าท่าให้สามารถรองรับเรือโดยสาร หรือเรือสำราญให้ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการขยายหน้าท่าเพิ่มอีก 60 เมตร ด้วยการลงทุนขยายหน้าท่าให้ลักษณะของเสาผูกเรือ จากเดิมที่หน้าท่ามีความยาว 360 เมตร เป็น 420 เมตร สามารถรองรับเรือสำราญ หรือเรือครุยส์ที่มีความยาว 240 เมตร ได้พร้อมกัน 2 ลำ เป็นการเพิ่มศักยภาพของท่าเรือภูเก็ตในการรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือสำราญมากยิ่งขึ้น

เฟสที่ 2: เมื่อเฟสแรกแล้วเสร็จ จะขอใช้พื้นที่อีก 40 ไร่ ที่อยู่ถัดไปจากพื้นที่ 106 ไร่ ของกรมธนารักษ์ ซึ่งขณะนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเจ้าท่าภูเก็ต และกรมศุลกากร เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ทั้งร้านอาหาร ดิวตี้ฟรี ร้านจำหน่ายของที่ระลึก อาคารสำนักงาน และอื่นๆ

เฟสที่ 3: วางแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์ประชุม หรือศูนย์แสดงสินค้า

เฟสที่ 4: เจรจาขอซื้อที่ดินจากเอกชนแปลงที่อยู่ติดกับท่าเรือ พัฒนาเป็นโรงแรมหรูต่อไป

สำหรับการพัฒนาท่าเรือภูเก็ตทั้ง 4 เฟส คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท (ผู้จัดการออนไลน์, 2562: ออนไลน์) งานนี้ต้องลงทุนสูงมากจริงๆ แต่ถ้าสำเร็จเชื่อว่า สามารถนำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าประเทศ และคุ้มค่าในระยะยาวอย่างแน่นอนค่ะ

เครดิตภาพ: mgronline.com, unescap.org

 

3) ท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port)

ท่าเรือกรุงเทพ เรียกย่อๆ ว่า PAT (PORT AUTHORITY OF THAILAND) หรือที่รู้จักกันว่า ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือระหว่างประเทศแห่งแรก และเป็นท่าเรือหลักของไทยอีกด้วย โดยเป็นท่าเรือน้ำลึกที่จอดเรือขนาดใหญ่ได้ อยู่ในความดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลอง พระโขนง ตำบลคลองเตย กรุงเทพฯ มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ที่ไม่สามารถขยายได้แล้ว เพราะอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ นั่นเอง สำหรับท่าเทียบเรือท่องเที่ยวจะอยู่ที่เขื่อนตะวันตก มีความยาวหน้าท่า 133 เมตร สามารถรับเรือที่มีความยาวไม่เกิน 172.25 เมตร กินน้ำลึกไม่เกิน 8.23 เมตร ได้ 1 ลำ จึงเหมาะสำหรับรองรับเรือขนาดกลางถึงเล็ก (ยอช์ทคลับ) แต่มีแผนขยายรองรับการจอดเรือได้ 2 ลำพร้อมกัน รวมทั้งสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ 2 ชั้น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการตรวจสอบสัมภาระและผ่านกระบวนการด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร เป็นที่ตั้งหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร ศูนย์สินค้าปลอดภาษีอากร ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป และกิจกรรมเพื่อนักท่องเที่ยวอื่นๆ อาทิ ร้านนวดแผนโบราณ

นอกจากนี้ก็มีแผนปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบดูแลความปลอดภัย ให้สัญญาณอินเตอร์เน็ตไวไฟตลอดเวลาเทียบเรือ จัดห้องบริการพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ และสอดแทรกแนวคิดอารยสถาปัตย์ เอื้อให้คนพิการหรือผู้สูงอายุ เข้าถึงการใช้งานทุกองค์ประกอบได้ เช่น ทางลาดรถเข็น ห้องน้ำที่ออกแบบเฉพาะ ซึ่งการปรับปรุงทั้งหมดนี้ เชื่อว่าจะช่วยตอกย้ำความพร้อมของการเป็นท่าเรือหลักอีกแห่งของประเทศได้ในอนาคต (สุมาลี สุขดานนท์, 2554: ออนไลน์; “ท่องเที่ยวผนึกการท่าเรือดัน‘แหลมฉบัง-คลองเตย’บุกครุยส์โลก”, 2562: ออนไลน์) จากที่นี่สามารถเดินทางชมสีสันใจกลางเมืองกรุงเทพได้แบบสบายๆ ไม่ว่าจะเป็น สุขุมวิท นานา สีลม สาธร เป็นต้น

เครดิตภาพ: mgronline.com

เรือสำราญที่มาเทียบท่าที่นี่ เช่น Silver Shadow by Silversea, Azamara Quest Cruise, Oceania Nautica by Oceania Cruises หรือแม้แต่เรือสำราญในโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์อย่าง Nippon Maru และ Fuji Maru เป็นต้น

เครดิตภาพ: cruisecritic.com, matichon.co.th, oknation.nationtv.tv

 

การเดินทางมาท่าเรือกรุงเทพ
สามารถเรียกแท็กซี่ฝั่งโรงงานยาสูบ หรือนั่ง MRT ลงสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และขึ้นฝั่งซอยไผ่สิงโต (ตรงข้ามศูนย์ประชุมฯ) แล้วต่อรถแท็กซี่ไปได้เลย ถ้าเดินทางมาจากสนามบินสุวรรณภูมินระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร ขับรถแบบไม่ติดใช้เวลาราวๆ 40 นาที แต่เนื่องจากท่าเรือนี้อยู่ในทำเลใจกลางเมืองคงต้องบวกเวลาสำหรับรถติดกันไว้ด้วยนะคะ

แผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ
เนื่องจากเป็นท่าเรือน้ำลึกในทำเลทองใจกลางเมืองมูลค่าที่ดินมหาศาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ พัฒนาให้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่ทันสมัย และท่าเรือท่องเที่ยวด้วย ให้จัดสร้างที่จอดเรือสำราญขนาดใหญ่รองรับเรือท่องเที่ยวจากต่างชาติ พัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าเรือให้เป็นคอมเพล็กซ์ แหล่งช็อปปิ้ง ร้านค้า ร้านอาหาร เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว (“ ‘สมคิด’ ดัน 4 โปรเจ็กต์ท่าเรือ เนรมิตท่าเรือท่องเที่ยวที่คลองเตย ดูดเรือสำราญเข้าไทย”, 2562: ออนไลน์)

การท่าเรือได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งภาพรวม (Master Plan) การพัฒนาพื้นที่มีทั้งภายในและนอกเขตรั้วศุลกากรจะแบ่งเป็น 3 โซนด้วยกัน ได้แก่ พื้นที่พัฒนาด้านการค้า พื้นที่พัฒนาธุรกิจหลัก และพื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ โดยพื้นที่พัฒนาเมืองท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Modern City) มีรูปแบบการพัฒนาเป็น Modern Port City เน้นการพัฒนาเมืองธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแลนด์มาร์กของประเทศ ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ และ Passenger Terminal โดยมีแนวคิดออกแบบเป็นอาคารแบบ Mixed Use ที่มี Shopping Mall พื้นที่จอดรถ และโรงแรม (“กทท.วางแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับเป็น Modern Port City”, 2561: ออนไลน์) แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว ถ้าสำเร็จเชื่อว่าต้องถูกใจทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศอย่างแน่นอนค่ะ

เครดิตภาพ: kobkid.com

 

4) ท่าเรือสมุย (Koh Samui Port)

ถึงแม้ว่า สมุยจะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวไทย และต่างประเทศ แต่ละปีจะมีเรือสำราญเดินทางมายังเกาะสมุยมากกว่า 100 ลำต่อปี แต่ก็ไม่สามารถจอดเทียบท่าได้ นักท่องเที่ยวจึงต้องต่อเรือเล็กมาขึ้นฝั่งนั่นเอง สำหรับท่าเรือหลักของเกาะสมุยเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ตั้งอยู่ที่หน้าทอน (Nathon) ทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะสมุย เป็นจุดรับส่งผู้โดยสารทั้งขาเข้า และขาออก ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ทันทีที่มาถึงก็จะพบว่าอยู่ที่ใจกลางเมืองแล้ว

เครดิตภาพ: panholiday.co.th

 

ใกล้ๆ ท่าเรือหน้าทอนมีทั้งโรงแรม ที่พักมากมาย ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ไว้บริการนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางจากท่าเรือหน้าทอน (Nathon Pier) ไปยัง หาดเฉวง (Chaweng Beach) ใช้เวลาเพียง 40 นาที ไปเที่ยวชมสัตว์ที่สวนสัตว์ซาฟารีนาเมือง (Namuang Safari Park) ได้เดินทางเพียง 20 นาที ถ้าชอบการดำน้ำก็ไปที่ท่องเที่ยวสุดฮิตอย่างเกาะเต่าได้ระยะทางนั่งเรือจากเกาะสมุยไปยังเกาะเต่าประมาณ 74 กิโลเมตร หรือจะเที่ยวรอบเกาะสมุยเพื่อสัมผัสความงามของธรรมชาติ และสัตว์ป่าบนเกาะก็ได้ โดยสายเรือที่มาเทียบท่าที่นี่ เช่น Costa Fortuna หรือ Super star Gemini เป็นต้น

 

 

การเดินทางมาท่าเรือหน้าทอน
หากมาจากสนามบินสามารถซื้อตั๋วรถ และเรือจากสนามบินถึงท่าเรือหน้าทอนได้เลย โดยรถจะไปยังท่าเรือดอนสักฝั่งสุราษฏร์ธานี จากตรงนี้จะมีบริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากไปเกาะสมุยคือ บริษัทซีทรานเฟอร์รี่ ออกจากท่าเรือดอนสัก ไปยังท่าเรือหน้าทอนที่เกาะสมุย หากนั่งรถมาจากสนามบินสุราษฏร์ธานีไปท่าเรือดอนสักระยะทางประมาณ 91 กิโลเมตร ใช้เวลาราวๆ 1ชั่วโมง 30 นาที และต่อเรือเฟอร์รี่โดยเรือซีทรานเฟอร์รี่ไปถึงท่าเรือหน้าทอนใช้เวลาอีก 1ชั่วโมง 30 นาที รวมเวลาการเดินทางราวๆ 3 ชั่วโมง แค่นี้เองสบายๆ

เครดิตภาพ: atsiamtour.com

 

แผนพัฒนาท่าเรือสมุย

ด้วยพื้นที่บริเวณนี้เหมาะเป็นจุดพักเดินเรือฝั่งอ่าวไทย กรมเจ้าท่าจึงเตรียมผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือสำราญ วงเงินลงทุน 4 พันล้านบาทบริเวณเกาะสมุย เพื่อส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยว และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเลือกพื้นที่แหลมนิคม บนเกาะสมุยเป็นจุดยุทธศาสตร์พัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ เพราะมีร่องน้ำลึกเหมาะสม มีแนวกันลม และแนวกันคลื่นขนาดใหญ่ สามารถจอดเรือได้ตลอดทั้งปี ส่วนด้านรูปแบบการลงทุน เห็นว่าควรเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนโดยกรมเจ้าท่า.จะดำเนินการเวนคืนพื้นที่ให้ เพื่อก่อสร้างท่าเรือ อาคารผู้โดยสาร โรงแรม ย่านการค้าและร้านอาหารเป็นต้น ขั้นตอนจากนี้คือ การส่งรายละเอียดโครงการไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป (“กรมเจ้าท่าผุดท่าเรือสำราญ 4 พันล้านที่เกาะสมุยดึงนักท่องเที่ยว”, 2561: ออนไลน์)
แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทยในปัจจุบัน

 

แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทยในปัจจุบัน

ก่อนอื่นต้องปรบมือรัวๆ ดีใจกันก่อนเพราะกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ รวมถึงการพัฒนาให้ไทยมีความสามารถในการเป็นท่าเรือหลัก ภายใต้เป้าหมายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางเรือสำราญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2570 โดยมีการกำหนดแผนพัฒนาเป็น 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570 https://www.mots.go.th/old/ewt_dl_link.php?nid=11581 ดังนี้

 

1) ระยะเร่งด่วน ปี 2561-2562 เน้นดำเนินการเพิ่มท่าเรือหลัก (Home Port) ในฝั่งอันดามัน อ่าวไทย และการจัดการภาพรวมกฎหมาย บุคลากร และบริหารจัดการในเบื้องต้น

2) แผนระยะกลาง ปี 2563-2565 ซึ่งในช่วง 3 ปี จะดำเนินการเพิ่มเมืองท่าใหม่ๆ ในระยะห่างที่เหมาะสม เพื่อเป็นการเปิดเพิ่มเส้นทางการเดินเรือที่มีความหลากหลายมากขึ้น

3) แผนระยะยาว ปี 2566-2570 จะใช้เวลา 5 ปี ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน สภาพภูมิอากาศ แผนรักษาความปลอดภัย การปรับปรุงด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว (“ผุดยุทธศาสตร์เรือสำราญ ต่อจิ๊กซอว์ไทยฮับ‘ครูซทัวริซึม’เอเชียปี 2570”, 2561: ออนไลน์, “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570”, 2560: ออนไลน์)

แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว รับรองว่า อนาคตอันใกล้เราคงได้เห็นการท่องเที่ยวเรือสำราญในบ้านเราบูมสุดๆ ช่วยนำเงินเข้าประเทศไทยของเราได้เป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นอน


อ้างอิง:

Top Cruise Ports in Southeast Asia (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://www.asiahighlights.com/southeast-asia/top-cruise-ports.htm

ล่องเรือ “สำราญ” ทางเลือกนักเดินทาง อนาคตการท่องเที่ยวไทย. (2560). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_438256.

บริบทของไทยกับการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวเรือสำราญ. (2561). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://www.admissionpremium.com/cruise/news/3508

ท่าเรือแหลมฉบัง (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://hutchisonports.co.th/th/ท่าเรือแหลมฉบัง/

ท่าเรือแหลมฉบัง (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://th.wikipedia.org/wiki/ท่าเรือแหลมฉบัง

ท่าเทียบเรือ A1 (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.laemchabangportnew.com/th/-a1.html

NYK GROUP (2556). โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือแหลมฉบังบริเวณท่าเทียบเรือ เอ 1 , 1-3 [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://eiadoc.onep.go.th/eia2/4-3-60.pdf

ท่องเที่ยวผนึกการท่าเรือดัน ‘แหลมฉบัง คลองเตย’บุกครุยส์โลก (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/749232

สุมาลี สุขดานนท์ (2561). ท่าเรือในชายฝั่งอันดามัน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/andamun/andamun.html

สุมาลี สุขดานนท์ (2557). ท่าเรือภูเก็ต [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/phuket/phuket.html

สุมาลี สุขดานนท์ (2554). ท่าเรือกรุงเทพ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.tri.chula.ac.th/triresearch/bangkokport/bangkokport.html

กรมเจ้าท่าผุดท่าเรือสำราญ 4 พันล้านที่เกาะสมุยดึงนักท่องเที่ยว (2561). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://www.posttoday.com/economy/536674

ผุดยุทธศาสตร์เรือสำราญ ต่อจิ๊กซอว์ไทยฮับ‘ครูซทัวริซึม’เอเชียปี 2570 (2561). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.thansettakij.com/content/270372

“นายกฯ ตู่” ลงใต้มาภูเก็ตพรุ่งนี้ เปิดอุโมงค์ห้าแยกฉลองแก้รถติด-ฝึกซ้อมแผน IDMEx 2019-ติดตามแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึก (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://mgronline.com/south/detail/9620000064584

ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570, (2560). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://www.mots.go.th/old/ewt_dl_link.php?nid=11581

ภูเก็ต ดีพซี พอร์ท แจงความคืบหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต คาดเสร็จ พ.ค.63, (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://www.prachachat.net/local-economy/news-347716

กทท.วางแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับเป็น Modern Port City, (2561). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
https://mgronline.com/business/detail/9610000094451

‘สมคิด’ ดัน4โปรเจ็กต์ท่าเรือ เนรมิตท่าเรือท่องเที่ยวที่คลองเตย ดูดเรือสำราญเข้าไทย, (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.khaosod.co.th/economics/news_2308401
(วันที่ค้นข้อมูล: 11 พฤศจิกายน 2562)