ประเทศไทยของเรานั้น เมืองไทยของเรา มีสิ่งดีๆ ธรรมชาติสวยงามมากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่ต้องมาเยือนให้ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะทางภาคใต้ของเรา มีชายหาดทอดเป็นแนวยาวทั้งสองฝั่งทะเลอันดามัน และฝั่งทะเลอ่าวไทย เราสามารถเลือกไปเที่ยวได้ทั้งปีแบบสบายๆ และในปี 2563 การท่องเที่ยวไทยมีคอนเซ็ปต์ “Open to the New Shades” เปิดประสบการณ์จริงเหนือความคาดหมาย นำเอกลักษณ์วิถีไทยที่แท้จริงสร้างเสน่ห์ให้ประทับใจแก่ผู้มาเยือน ที่คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก สร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10% มูลค่า 3.718 ล้านล้านบาท เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ กระเป๋าตุง กระเป๋าหนักจ้า ซึ่งนักท่องเที่ยวเรือสำราญก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

ตอนนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรือสำราญทั่วโลก ก็มีอัตราการเติบโตเร็วสูงสุดในตลาดการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 - 2018 เฉลี่ยปีละ 6% ปริมาณนักท่องเที่ยว 28.51 ล้านคนทั่วโลก ค่าใช้จ่ายของผู้โดยสารทั่วโลก เฉลี่ยคนละ 376 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่ใช้ขณะล่องเรือเฉลี่ยคนละ 101 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในแถบเอเซึยที่นักท่องเที่ยวจีน มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งท่าเทียบเรือในภูมิภาคนี้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สิงคโปร์ เกาะเจจู ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ปีนัง ภูเก็ต กัวลาลัมเปอร์ คีลัง 

เรียกได้ว่าเป็นโอกาสดีๆ ที่จะเชิญชวนผู้ประกอบการเรือสำราญ เพิ่มเส้นทางเรือ นำนักท่องเที่ยวเรือสำราญมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้น เพราะประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวล้นเหลือมากมาย บวกกับกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา กำลังดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570 ที่ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางเรือสำราญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2570 

ถ้าหากประเทศไทยพัฒนาศักยภาพทางกายภาพด้านท่าเรือ ปรับแก้กฎหมาย ความรู้ของบุคลากร และอื่นๆ ให้มีความพร้อม จะสามารถชักชวนเรือสำราญขนาดใหญ่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาแวะเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ก็จะทำให้สร้างรายได้จำนวนมหาศาล หญิงปุ๊กขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญโอกาส และความท้าทาย เพื่อมุ่งมั่นพัฒนาชาติไทยของพวกเรา 

 

แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญ โอกาส และความท้าทายของประเทศไทย

 

1. รัฐบาลให้การสนับสนุนเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ออกมาในรูปแผนพัฒนาพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญแบบครบวงจร ที่ระบุให้การท่องเที่ยวเรือสำราญได้เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ Road Map 10 ปี โครงการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ ในปี พ.ศ. 2561 – 2570 ที่ตั้งเป้าหมายให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากลมีการกระจายรายได้ที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับชุมชน และประเทศชาติ ภายในปี 2570 และยังแบ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาออกเป็น 7 ยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวก การพัฒนาแหล่งการท่องเที่ยว การส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาด การพัฒนาเชื่อมโยงสาธารณูปโภค และระบบโดยสารสาธารณะทั้งทางบก อากาศ และราง การปรับแก้กฎหมายระเบียบ การปรับปรุงบุคลากร และการดูแลสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมี แผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (The Royal Coast หรือ Thailand Riviera) พ.ศ. 2560-2564 ออกมารองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญให้ครบวงจรมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนในเชิงนโยบายของภาครัฐ เป็นบันไดขั้นแรกสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือสำราญ ที่กลายเป็นโอกาสให้กับประเทศ และผู้ประกอบการ ได้ปรับตัวเตรียมพร้อมการดำเนินธุรกิจ รองรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว และเมื่อเรามียุทธศาสตร์แล้ว ก็ต้องติดตามส่งเสริมให้เป็นไปตามแผนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่คู่กับเมืองไทยไปนานๆ

(แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570 https://www.mots.go.th/old/ewt_dl_link.php?nid=11581)

(แผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก : https://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=11583)

 

2. การปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้แข่งขันได้

เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะถ้ากฎหมายล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเรือสำราญในปัจจุบัน ก็จะทำให้สายเดินเรือ ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ไม่อยากเข้ามาลงทุนหรือท่องเที่ยว เพราะจะทำอะไรก็ยุ่งยากติดขัดข้อกฎหมายเต็มไปหมด ไม่สะดวก ค่าใช้จ่ายสูง ความปลอดภัยไม่เพียงพอ ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570 ได้ระบุถึงการปรับแก้กฎหมายที่ต้องทำเสร็จในปี 2563 ที่มีหน่วยงานต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบ ถึง 3 หน่วยงานหลักด้วยกัน ได้แก่

หน่วยงานแรก กระทรวงการต่างประเทศ ดูแลกฎระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับพิธีการตรวจคนเข้าเมืองของลูกเรือ และนักท่องเที่ยวให้รวดเร็วทันสมัย ไม่แพง ไม่ว่าจะเป็นการออก Joint Visa หรือ Single Visa การเพิ่มช่องทางการตรวจสัมภาระ เพื่อให้จูงใจให้นักท่องเที่ยวลงจากเรือเข้ามาแวะเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ได้มากขึ้น

ถัดมาคือ กรมศุลกากร ดูแลเรื่องอัตราราคา ประเภท น้ำหนักของสินค้าผ่านแดน หรือตั้งเขตสินค้าปลอดภาษี ในบริเวณที่เรือเข้าเทียบท่า หรือตามแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากการช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งการปรับแก้กฎหมายก็น่าจะต้องมีความสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลของท่าเรือทั่วโลก เช่น ความรวดเร็วของการผ่านด่านเข้าเมือง ค่าธรรมเนียม ระบบศุลกากร การขอคืนภาษี เป็นต้น

และสุดท้าย กรมเจ้าท่า มีหน้าที่กำกับดูแลออกกฎระเบียบ มุ่งส่งเสริม การพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งประเภทอื่น สร้างความสะดวกรวดเร็ว ทั่วถึง ปลอดภัย และประชาชนได้รับประโยชน์ ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง พร้อมทั้งปฏิบัติงานตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย ดูแลกฎระเบียบปฏิบัติการเข้า-ออกของเรือสำราญ ซึ่งกฎหมายในปี พ.ศ. 2558 ได้การอนุญาตให้เรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht ) หมายถึง เรือสำราญและกีฬาที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป บรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 12 คนนั้น แต่ในความเป็นจริงเรือสำราญที่มาใช้ท่าเรือของไทย เป็นท่าเรือหลักอย่างเช่น Costa Victoria ในเครือ Costa Cruises เป็นเรือขนาด 75,166 ความยาวกว่า 252 เมตร สูงถึง 14 ชั้น สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 2,394 คน จึงทำให้กรมเจ้าท่าเร่งพัฒนาท่าเรือสำราญหลักในไทย ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือภูเก็ต และท่าเรือสมุย ให้เรือสำราญขนาดใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้อย่างสะดวกมากขึ้น จากเดิมที่ต้องทอดสมอชายฝั่ง และนำเรือไปรับกลางทะเล แล้วมาส่งบนโป๊ะชั่วคราวเดินเข้าขึ้นสู่ขายฝั่ง ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับความปลอดภัย สะดวกสบาย และเสียเวลาค่อนข้างมาก 

หากการก่อสร้างดำเนินการเสร็จสิ้น บวกกับการแก้ไขกฎหมายกให้เป็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว หน่วยงานแต่ละแห่งควรมีแนวทาง การพูดคุย ปรึกษาหารือ เจรจา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บูรณาการเชื่อมโยงกันข้อมูลกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การเดินทางเข้าออกของเรือสำราญ และนักท่องเที่ยวบนเรือสำราญมีความสะดวกรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มจำนวนเรือและนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น จากเดิมที่แวะขึ้นฝั่งไม่เกิน 1- 2 วันอาจเพิ่มจำนวนวันมากขึ้น หากแก้ไขตรงจุดก็จะทำให้สามารถฉกฉวยโอกาสได้ทันเวลา ไม่ตกขบวนในการสร้างโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ขยายตัวมากขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงาน กระจายเม็ดเงินไปสู่ชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางน้ำ และเรือสำราญได้ไม่ยากหากทุกฝ่ายร่วมมือกันผลักดันอุตสาหกรรมเรือสำราญไปสู่ตลาดเรือสำราญโลก

 

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านท่าเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวก 

การลงทุนพัฒนาท่าเรือให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมเรือสำราญเลยทีเดียว เพราะท่าเรือที่ทันสมัย สะดวกสบาย ปลอดภัย ก็เปรียบเหมือนเป็นประตูสู่ประเทศ เหมือนกับสนามบิน ซึ่งปกติเรือสำราญที่เข้าเทียบท่าในไทยมีระยะสั้นเพียง 1 วัน และกลับขึ้นเรือไปเที่ยวที่อื่นต่อ (Turn Around Port) แต่ถ้าโครงสร้างพื้นฐานของเทียบท่าเรือมีความพร้อม มีแหล่งท่องเที่ยว จะทำให้เรือสำราญจอดค้างคืนเพิ่มขึ้น และนักท่องเที่ยวก็มีเวลาเที่ยวได้มากขึ้นอีกด้วย 

สถานการณ์ปัจจุบันของท่าเรือแหลมฉบัง ภายในมีท่าเทียบเรือทั้งหมด 5 แห่ง ซึ่งเป็นท่าเรืออุตสาหกรรม สำหรับขนถ่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีท่าเรือ A1 เป็นท่าเทียบเรือสำราญเพียงท่าเดียวเท่านั้น แม้ว่าจะมีสายเดินเรือสำราญต้องการนำเรือเข้าจอดเทียบท่าเพิ่มเติม ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ เพราะมีความยาวหน้าท่าไม่พอ

แนวทางแก้ไข ต้องปรับปรุงท่าเรือมีอยู่ให้เป็นท่าเรือหลัก (Home Port) ขยายความยาวหน้าท่าให้รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ พัฒนาอาคารผู้โดยสารขนาดเล็ก ซื้อเรือ Tug เพิ่มขึ้น 2 ลำ และหลักผูกเรือจำนวน 2 หลัก เพิ่มขึ้น และนอกจากนี้ยังมีแนวคิดพัฒนาท่าเรือสำราญที่พัทยา ตรงแหลมบาลีฮาย ในจังหวัดชลบุรีเพิ่มเติม การสร้างท่าเรือหลักที่แหลมบาลีฮาย เป็นทำเลที่มีความเหมาะสม จัดทำท่าเทียบเรือ Cruise Terminal เพราะเรือสามารถมาจอดหลบลม และเข้ามาทอดสมอที่อ่าวพัทยา สามารถขนถ่ายนักท่องเที่ยวขึ้นฝั่ง แล้วนั่งรถบัสไปเที่ยวต่อตามสถานที่ต่างๆ ได้เลย อีกอย่างในอนาคต เมืองพัทยาก็กำลังพัฒนาเข้าสู่ Smart City การจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวของกลุ่มเรือสำราญขนาดใหญ่สามารถทำได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮายเป็นสถานที่ลงเรือของนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเกาะล้าน

ท่าเรือภูเก็ต หรือท่าเรือรัษฎา ปัจจุบันให้บริการเรือเฟอร์รี่จาก ภูเก็ต ไปยัง เกาะใกล้เคียง เช่น เกาะพีพี เกาะลันตา เกาะหลีเป๊ะ กระบี่ อ่าวนาง และหาดไร่เลย์ แต่เรือสำราญไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้เพราะล่องน้ำไม่ลึกพอ และท่าเทียบเรือมีความยาวไม่พอ เรือสำราญจึงต้องลอยลำกลางทะเลหน้าทางใต้สุดของหาดป่าตอง หรือที่ท่าเรือน้ำลึกอ่าวมะขาม ซึ่งสามารถรองรับเรือสำราญได้ 2 ลำเท่านั้น วิธีการขึ้นบนชายฝั่ง ก็ต้องขนถ่ายนักท่องเที่ยวลงเรือเล็ก มาส่งต่อที่โป๊ะจอดเรือเป็นทางเดินประมาณ 300 เมตร ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงสำหรับขนถ่ายนักท่องเที่ยวให้ขึ้นฝั่งเสร็จ พอขึ้นฝั่งก็จะมีผู้ประกอบการรถตุ๊กตุ๊ก แท็กซี่ รถบัส รถตู้ มาชักชวนนักท่องเที่ยวไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเรือสำราญที่เข้ามา 2 ลำ นักท่องเที่ยวประมาณ 8 พันคน ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 4 พันบาทเลยทีเดียว แม้จะมีเวลาเที่ยวเพียงหนึ่งวันเท่านั้น สร้างรายได้เข้าประเทศ 31.2 ล้านบาท คิดดูซิคะถ้าเรามีท่าเรือที่รองรับเรือสำราญได้มากกว่านี้ จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้น เงินก็ไหลเข้าสู่ประเทศเป็นทวีคูณเลยทีเดียว เห็นอย่างนี้แล้ว ต้องรีบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยด่วน รอช้าไม่ได้ ไม่งั้นตกขบวนแน่นอนน...

เครดิตภาพจาก: https://www.matichon.co.th/local/news_489234

เรามาลงดูท่า Klang ของมาเลเซียกันค่ะ จะเห็นว่าเรือสำราญขนาดใหญ่สามารถจอดเข้าท่าได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาขนถ่าย      นักท่องเที่ยวมากนัก 

หรือท่าเรือโยโกฮาม่า ในประเทศญี่ปุ่น ที่ลงเรือปุ๊ป เที่ยวได้ปั๊บ บริเวณใกล้ๆ มีทั้งสวนสนุก หรือเดินเล่น นั่งชิลล์รับลมชมวิวบนชิงช้าสวรรค์ Cosmo World Ferris Wheel ที่เป็นนาฬิกาบอกเวลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น

 

4. สร้างเส้นทางการเดินทาง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ

การพัฒนาการขนส่งสิ่งอำนวยความสะดวกให้เชื่อมโยงการเดินทาง ระบบสาธารณูปโภค ถนนทาง ให้มีความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับการคมนาคมขนส่งจากท่าเรือ ไปสถานที่ท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร รวมทั้งการเดินทางจากสนามบินไปท่าเรือหลัก (Home Port) เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว ลดความสูญเสียด้านเวลาบนท้องถนน เพิ่มเวลาในการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น

ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) กำลังพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือให้รองรับ Luxury Cruise ซึ่งหญิงปุ๊กคิดว่าไทยเราทำได้แน่นอน หากมีการเชื่อมโยงเส้นทางการเดินทางให้รองรับนักท่องเที่ยวทั้งทางบก อากาศ เรือ รถไฟ แบบคู่ขนานกันไปจะสามารถขนถ่ายนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ กลาง เล็ก หรือกลุ่มครอบครัว ก็เดินทางได้สะดวก และพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพฯ (Bangkok Modern City) กำลังมีแนวทางการพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำแห่งใหม่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ พัฒนาอาคาร Mixed-Use ครบวงจร ทั้ง Shopping Mall ลานจอดรถ ที่อยู่อาศัยและโรงแรม

ซึ่งตัวอย่างจากประเทศสิงค์โปร์เพื่อนบ้านเรา การเดินทางจากสนามบินชางฮีไปท่าเรือ ที่หญิงปุ๊กเคยใช้บริการนั้นสะดวกมาก สามารถเดินทางได้ 2 ทาง ทางรถยนต์จองแท็กซี่ไว้ล่วงหน้า ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 30 นาทีก็ถึงท่าเรือ รวมเวลารอที่สนามบิน 45 นาที สะดวกมาก หรือรถไฟฟ้า MRT จากสนามบินไปยังท่าเรือด้วย MRT ลงสถานี the Marina South Pier Station ใน North South Line และเดินเท้าต่ออีก 10 นาทีค่ะ 

 

5. การสร้างความร่วมมือกันระหว่างภูมิภาค

ในภาครัฐ และผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนของเรานั้น ที่ผ่านมาได้จัดประชุมการท่องเที่ยว ครั้งที่ 37 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวทางอาหาร และท่องเที่ยวทางเรือ เพื่ออำนวยความสะดวก และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาพูดคุยลงทุนร่วมกันกัน เจรจาปิดเส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้นทั้งประเทศฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน รวมถึงการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบจากประเทศจีน และอินเดีย เพราะสองประเทศนี้มีประชากรเยอะที่สุดในโลก และนิยมมาเที่ยวในไทย

ประเทศจีนได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 13 กำหนดให้เพิ่มการสร้างท่าเรือสำราญระหว่างประเทศในช่วงปี 2559 - 2563 และผู้ประกอบการจีน ซึ่งเส้นทางเมืองเซี่ยเหมิน – ไทย การขอใบอนุญาตการเดินเรือสำราญจากทั้งสองประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวขอรับยกเว้นค่าธรรมเนียม การตรวจลงตราแบบ Visa on Arrival ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคณะทัวร์ เพื่อจะได้มีเวลาเที่ยวในไทยได้มากขึ้น นอกจากนี้ CLIA ระบุว่าตั้งแต่ปี 2561 นักท่องเที่ยวเรือสำราญชาวจีนมีจำนวน 4.24 ล้านคน เป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเดินทางครั้งเดียวไปได้หลายประเทศ จะไปแบบคู่รัก หรือครอบครัว เพื่อนฝูง ก็สนุกมีกิจกรรมให้ทำหลากหลาย ถึงจะมีค่าใช้จ่ายสูงก็เต็มใจที่จ่ายแบบโนสนโนแคร์เลยจ้า เพื่อซื้อประสบการณ์ความสะดวกสบายให้เต็มที่กับชีวิตไปเลย

ในช่วงปี 2558 - 2562  นักท่องเที่ยวอินเดียเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เติบโตเฉลี่ยมากกว่า 15% จำนวนเที่ยวบินจากอินเดียมาไทยมากกว่า 3,000 เที่ยวบิน จุดเด่นคือ การเปิดเส้นทางบินตรงจากอินเดียมายังภูเก็ต การยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า 1 ปี และในแต่ละปีมีคู่รักชาวอินเดียประมาณ 200 คู่ บินมาแต่งงานที่กรุงเทพฯ หัวหิน และพัทยา ใช้งบประมาณ 8-9 ล้านบาท  มีแขกร่วมงานราว 300-400 คน ฉลองกัน 3-4 วัน เพราะค่าใช้จ่ายในการจัดงานไม่สูงมาก ถ้าหากผู้ประกอบการทั้งอินเดีย- ไทย สามารถจัดแพ็คเก็จแต่งงานบนเรือสำราญ จัดเส้นทางการบินที่สอดคล้องกับการเดินเรือ ก็จะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวเรือสำราญเพิ่มขึ้นได้แบบพุ่งกระฉูดแน่ๆ

การประชุมเรื่อยๆ ก็เกิดพัฒนา จากนักวิชาการ โดยผศ.ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง ได้วิจัยเรื่อง พฤติกรรมและคุณลักษณะของนักท่องเที่ยวเรือสำราญในการเดินทางท่องเที่ยวยังท่าเรือของประเทศไทย กรณีศึกษาท่าเรือแหลมฉบัง พบว่า นักท่องเที่ยวเรือสำราญส่วนใหญ่เดินท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญมากกว่า 5 ครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อพักผ่อน ท่องเที่ยวเป็นหลัก นิยมเดินทางกับคู่รักมากที่สุด และเดินทางกับครอบครัว รูปแบบการท่องเที่ยวบนฝั่ง นิยมซื้อทัวร์จากสายการเดินเรือมากที่สุด และการจัดเส้นทางเดินเรือเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้ตัดสินใจท่องเที่ยวเรือสำราญ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมบนฝั่ง ความสะดวกสบายของเรือ ประสบการณ์ใหม่ กิจกรรมบนเรือสำราญ ความคุ้มค่า ชื่อเสียงของสายการเดินเรือ ราคาแพ็คเกจ ช่วงเวลาในการ เดินทาง ความปลอดภัย การส่งเสริมการขาย และอื่นๆ

การจัดทำโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า หอการค้าไทยขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บท จัดทำโครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน เพิ่มจากที่ได้เชิญหอการค้าญี่ปุ่น และ JETRO มาให้ความรู้เรื่องการสร้างเรื่องราว และการชูเอกลักษณ์สินค้าที่มีความโดดเด่นของท้องถิ่น ด้านการบริหารจัดการ การตลาด  

การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ถ้าสามารถทำได้สำเร็จ เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์แบบ Win-Win Situation ที่ใครๆ ก็ได้รับประโยชน์จากการจับมือกันทำธุรกิจ และการที่นักวิชาการจัดทำวิจัย และจัดประชุมก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับความต้องการ ทั้งสายเดินเรือ ออกแคมเปญท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมกับคนท้องถิ่นหรือ Local Hero ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ใช้เวลาไม่มาก แต่สร้างความประทับใจได้จนอยากกลับมาเที่ยวซ้ำ เช่น 1 Day Tour เดินทางใน 1 วัน เช่น ร้านขายสินค้าระลึก เสื้อผ้า อาหาร ความงาม ของตกแต่ง การแสดงโชว์ กิจกรรมทางวัฒนธรรม หรืออาจจะ 2 วันในกรณีที่มีการค้างคืน Stop Over หรือจัดโปรแกรม Medical Treatment สำหรับสุขภาพ และระยะเวลาในการเดินทางสั้นๆ ไม่ห่างไกลจากท่าเรือมากนัก  และเพิ่มความปลอดภัยของการเดินทางสำหรับการส่งต่อนักท่องเที่ยวจากสายการเดินเรือสำราญ ไปแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

 

6. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่เกี่ยวเนื่องกับเรือสำราญ

คนไทยมีใจการบริการ และพร้อมจะเป็นมิตรกับทุกคน จึงเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากอยู่แล้ว ซึ่งคนไทยทำงานบนเรือสำราญทั่วโลก มีประมาณ 2,000 คนเท่านั้น ในขณะที่ปี 2018 อุตสาหกรรมเรือสำราญทั่วโลก มีการจ้างงานถึง 1,177,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีแล้วถึง 6.2% จ่ายค่าจ้างและเงินเดือนทั้งหมด 50.24 พันล้านดอลลาร์ และยังขาดแคลนบุคลากรอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เชฟ พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์  ช่างภาพ นวดสปา นักแสดงโชว์ นักเทรนนิ่ง ผู้เชี่ยวชาญและแนะนำไวน์ อาชีพเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของคนไทยที่จะขึ้นไปทำงานบนเรือสำราญให้มากขึ้น เพราะยังมีที่ว่างอีกเพียบ แต่ก่อนจะขึ้นเรือไปทำงานกัน ภาครัฐ และผู้ประกอบการ รวมทั้งตัวเราก็ต้องพัฒนาตนเองเตรียมความพร้อมไปสำหรับทำงานบนเรือสำราญกัน

ต้องโปรโมทแนะนำอาชีพ การทำงานบนเรือสำราญให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จะได้เชื่อมั่น เพราะการที่คนรู้จักน้อย ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะได้ไปทำงานจริงเปล่า จะถูกหลอกไหม แล้วขึ้นเรือจะไปงานอะไรได้บ้าง และการทำงานบนเรือต้องห่างไกลจากครอบครัว เพื่อนพี่น้อง จะเหงาหรือเปล่า เงินดีไหม จากการที่มีคนไทยไปทำงานจำนวนไม่มากจึงมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทำให้คนที่อยากไปทำงานบนเรือสำราญขาดข้อมูล และเสียโอกาส

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดอบรมการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ โดยใช้ระยะเวลาการฝึก 42 ชั่วโมง ฝึกภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี แต่ก็ยังไม่เพียงพอทั้งจำนวนหลักสูตร และระยะเวลาที่ให้การอบรม

ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หรือเอเจนซี่ที่เป็นตัวแทนสายเดินเรือที่ได้มาตรฐาน มาร่วมกันออกแบบหลักสูตร Cruise Job หรือจัดเทรนนิ่ง ให้เรียนรู้การทำงานบนเรือสำราญ แล้วสามารถส่งบุคลากรขึ้นไปทำงานได้จริง ก็จะช่วยสร้างอาชีพให้กับคนไทยได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีแต่สถาบันฝึกอบรม แต่ไม่ได้รับรองการทำงานบนเรือ ทำให้มีบางคนเสียเงินและเสียเวลาอบรมถึง 2 ปี แต่ก็ไม่สามารถขึ้นไปทำงานบนเรือสำราญได้ตามที่ต้องการ

การฝึกภาษาอังกฤษให้บุคลากร เพราะการทำงานบนเรือสำราญใช้ภาษาอังกฤษสำหรับดูแลต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่คนไทยจะไม่กล้าพูด อาย และกลัวผิด หากมีหลักสูตรที่ฝึกพูด เสริมสร้างความมั่นใจ และสอนภาษาก็จะทำให้กลายเป็นโอกาสที่ดี ไม่ใช่แค่ทำงานบนเรือสำราญ แต่จะไปทำงานที่ไหนในโลกก็ได้ ขอเพียงแค่สื่อสารรู้เรื่อง ให้เข้าใจซึ่งกันและกันก็พอแล้วจ้า

ผ่านการฝึกประสบการณ์ในการทำงานโรงแรมระดับ 4-5 ดาว 1 ปีขึ้นไป หรือมีใบรับรองการทำงานจากบริษัทเรือ (Evaluation Form) และสายเดินเรือบางแห่งก็รับคนทำงาน โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ภาษาอังกฤษสำคัญมากๆ เลยนะคะ

 

7. การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

     เรือสำราญก็สนใจตรงนี้ สายเดินเรือไหนจะสร้างเรือสำราญลำใหม่ลงสู่ท้องทะเล ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานข้อบังคับของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) เพื่อพิทักษ์ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้สะอาดบริสุทธิ์ ถือได้ว่าเที่ยวสนุก ปลอดภัยแล้วยังรักษ์โลกด้วย ซึ่งแบ่งได้ 5 ด้าน

     อันดับแรก ด้านสภาพอากาศ หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศ ที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามสุขภาพร่างกายของคนเราไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งตรงนี้สายเรือสำราญก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะประกอบธุรกิจควบคู่ไปกับ การรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงมีความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ และทีมวิศวกรสำหรับพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ สร้างสรรค์เชื้อเพลิงสะอาด และกำหนดแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยและยั่งยืน ด้วยเงินลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ อุตสาหกรรมเรือสำราญจึงได้ออกแบบ และติดตั้งระบบทำความสะอาดก๊าซไอเสีย (EGCS) บนเรือ เพื่อลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ในระดับ 98% ในไอเสียของเรือ และประกาศแผนการที่จะสร้างเรือ ด้วยเครื่องยนต์ควบคุมมลพิษทางอากาศ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พร้อมติดตั้งเครื่องลดกำมะถัน ซึ่งคาดว่าจะให้บริการครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 รวมถึงมีแผนการจัดการพลังงานของเรือ เพื่อวางแผนเส้นทาง บำรุงรักษา ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์ ได้ถึงร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2025

     ด้านพลังงาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การลงทุนในเครื่องยนต์ที่ประหยัดพลังงาน การเคลือบผิวตัวถังเรือสำราญ เพื่อช่วยลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจากแรงเสียดทาน การใช้หลอดไฟ LED และเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สำหรับการรีไซเคิลน้ำร้อนมาสู่การสร้างความอบอุ่นภายในห้องโดยสาร การใช้ระบบการกลั่นน้ำจืดทำความเย็นให้เครื่องยนต์ เครื่องระบายความร้อน และการหมุนเวียนระบบปรับอากาศภายในเรือสำราญ โดยเฉพาะเรือสำราญรุ่นใหม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพระบบพลังงานแสงได้ร้อยละ 80 จากการเปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED เช่น บริษัทเรือสำราญ Hurtigruten สัญชาตินอร์เวย์ยังประกาศว่าภายในปี ค.ศ. 2021 จะนำของเสีย ได้แก่ ปลา และอาหารทะเลต่างๆ มาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นแก๊สชีวภาพ ให้กลุ่มเรือทั้งหมด 17 ลำ และอีก 6 ลำจะใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือก

     ด้านการจัดการน้ำ อุตสาหกรรมเรือสำราญมีส่วนร่วม สำหรับการจัดการวางแผนน้ำทะเลในมหาสมุทร ในระดับภูมิภาค กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางทะเล และให้ข้อมูลโดยตรงและข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ และการใช้น้ำในมหาสมุทรอย่างให้ยั่งยืน เช่น การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเล ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลาย หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ถือได้ว่าเที่ยวสนุก ปลอดภัยแล้วยังรักษ์โลกด้วย 

     ด้านความโปร่งใส เรือสำราญแต่ละลำได้รับการตรวจนับสิบครั้งในแต่ละปี จากท่าเรือต้นทางและปลายทางแหล่งท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ จะมีองค์กร และหน่วยงานอิสระ เข้ามาการตรวจสอบอุปกรณ์ และแนวทางปฏิบัติในการจัดการของเสีย การลดการปล่อย และการบำบัดน้ำเสีย เช่น ในน่านน้ำสหรัฐอเมริกา หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) และหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาบังคับใช้ข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับอากาศ น้ำพลังงาน และขยะ รวมถึงพระราชบัญญัติน้ำสะอาด อุตสาหกรรมเรือสำราญยังมีส่วนร่วมในคณะทำงานและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เพื่อกำหนดข้อบังคับระดับโลกเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ข้อมูลรายงายผลสิ่งแวดล้อมมีอยู่ในเว็บไซต์ของรัฐอย่างแพร่หลาย สมาคมเรือสำราญระหว่างประเทศ (CLIA) มีการรายงานเป้าหมายและผลการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแบบออนไลน์

 

การจัดการของเสีย เรือสำราญจะปฏิบัติตามแนวทางการจัดการดูแลขยะและของเสีย ด้วยการยกเลิกการใช้พลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง เปลี่ยนมาเป็นการใช้อุปกรณ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และระมัดระวังป้องกันของเสีย ที่ยังไม่ผ่านการบำบัดไหลลงสู่ท้องทะเลในมหาสมุทร ด้วยวิธีการให้ความรู้ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญการจัดการของเสียบนเรือสำราญ จนทำให้เรือบางประเภทสามารถนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ได้ร้อยละ 100 และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ร้อยละ 60 ซึ่งมากกว่าการนำขยะกลับมาใช้ใหม่บนฝั่งเสียอีก รวมถึงการนำกระดาษ พลาสติก อะลูมิเนียม และแก้วกลับมาใช้ใหม่มากกว่า 80,000 ตันต่อปี 

 

8. การโปรโมทการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย 

อุตสาหกรรมเรือสำราญทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ไทยยังไม่มีความพร้อมด้านการตลาดที่ทำให้คนไทยและต่างชาติ มีข้อมูลและรับรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเรือสำราญ ทั้งที่คนไทยเมืองไทยก็มีจุดเด่น ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการบริการที่คนทั่วโลกประทับใจ การพัฒนาการตลาดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญ ก็ต้องเริ่มที่พัฒนาศักยภาพตนเองก่อน สร้างและรักษาแหล่งท่องเที่ยว ให้มีความพร้อม ปลอดภัย สะดวกสบาย มาตรฐานระดับสากล เชิญชม ชิม ช็อป แชะ สร้างสรรค์ประสบการณ์น่าประทับใจไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย ให้กลายเป็นกระแสไวรัลวิดีโอคลิป พูดต่อดูต่อๆ กัน และแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย บล็อกเกอร์ เซเลบริตี้ โทรทัศน์ วิทยุ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ถือว่าเป็นตลาดสำคัญมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมเรือสำราญโลก และในปี 2019 CLIA คาดว่านักท่องเที่ยวเรือสำราญทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านคน ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย

โอกาสมาแล้วจ้า!!! นักท่องเที่ยวพร้อม รัฐบาลพร้อม ผู้ประกอบการพร้อม เรามาช่วยกันผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จัก และทำให้โลกรู้ว่าคนไทยก็ทำได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก สู้สู้สู้ ไทยแลนด์

 

อ้างอิงจาก

CLIA 2018 Global Passenger Report: https://cruising.org/-/media/research updates/research/clia-global-passenger-report-2018.pdf,

2019 Cruise Industry Overview: https://www.f-cca.com/research.html

2020 State of the Cruise Industry Outlook: https://cruising.org/-/media/research-updates/research/state-of-the-cruise-industry.pdf

CLIA 2018 Global Passenger Report: https://cruising.org/-/media/research updates/research/clia-global-passenger-report-2018.pdf,

2019 Cruise Industry Overview: https://www.f-cca.com/research.html

https://siamrath.co.th/n/89606

https://www.prachachat.net/tourism/news-347053

https://cruising.org/-/media/research-updates/research/clia-global-passenger-report-2018.pdf

https://www.f-cca.com/research.html

https://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=11581

https://www.mots.go.th/ewt_dl_link.php?nid=11583

http://www.wice.co.th/2019/10/01/imo-2020/

https://www.ditp.go.th/contents_attach/76949/76949.pdf

https://www.matichon.co.th/local/news_489234

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1110576

https://www.bangkokbanksme.com/en/boat-tour-xiamen-thailand

https://www.naewna.com/inter/426594

https://mgronline.com/china/detail/9620000057193

https://cruising.org/about-the-industry/policy-priorities/environmental-stewardship